พลังงาน เตรียมเสนอ กพช. ต่ออายุ “โครงการรับซื้อไฟฟ้ารองรับวิกฤติพลังงาน” อีก 2 ปี ถึง 31 ธ.ค.2569

1034
- Advertisment-

พลังงาน แจงเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เป็น 1 บาทต่อหน่วย อยู่ภายใต้โครงการ “รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานฯ” ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2565 และจะครบกำหนด 31 ธ.ค. 2567 โดยปรับราคารับซื้อไฟฟ้าเพื่อจูงใจโรงงานและอาคารธุรกิจให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้น และเตรียมเสนอ กพช. ขยายเวลารับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนส่วนเกินต่อไปอีก 2 ปี ยืนยันแม้ไทยไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤติพลังงานเหมือนอดีต แต่การรับซื้อยังจำเป็น เหตุช่วยลดค่าไฟฟ้าประเทศและลดการนำเข้า LNG ได้ประมาณ 6 หมื่นตัน

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากรณีมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า 1 บาทต่อหน่วย สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ โดยมีกำหนดระยะเวลารับซื้อ ไม่เกิน 2 ปี (เริ่มต้นวันที่ 1 ม.ค. 2568 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2569)

โดยระบุเหตุผลมาจากเมื่อปี 2565  เกิดปัญหาวิกฤติราคาพลังงาน เนื่องจากผลกระทบของสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ประกอบกับเป็นช่วงที่แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณยังผลิตก๊าซฯ เข้าระบบไม่เต็มที่ตามสัญญา ทำให้ไทยได้รับผลกระทบด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งด้านราคาและปริมาณ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงนั้นเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เหลือใช้ของผู้ประกอบการ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า และลดปัญหาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ช่วงนั้นมีราคาแพงมาก

- Advertisment -

จากนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศโครงการ “รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ทั้งจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาและไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า” ในปี 2565  ต่อมา กพช. ได้ขยายเวลาโครงการดังกล่าวต่อไปอีก ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 นี้

โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 64 เมกะวัตต์  ตามข้อกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าดังนี้ เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะ ที่ราคา 2.20 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม กำหนดอัตรารับซื้อไว้ที่ 0.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มนี้จะไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จะเป็นแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm)

อย่างไรก็ตามล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมานี้ กบง.ได้เห็นชอบตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เสนอต่ออายุโครงการดังกล่าวออกไปอีก 2 ปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568- 31 ธ.ค. 2569 โดยเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จาก 50 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 1 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจผู้ประกอบการโรงงาน และอาคารธุรกิจให้ร่วมขายไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากทางกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้อยู่ในช่วงของวิกฤติพลังงาน แต่โครงการดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าไม่แพง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ และลดการนำเข้า LNG ลงได้ประมาณ 1 ลำเรือ หรือประมาณ 60,000 ตัน  นอกจากนี้ยังได้สอบถามความเห็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็พบว่า ยังมีความสนใจขายไฟฟ้าส่วนเกินดังกล่าวให้ภาครัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่า 2 ปีจากนี้ น่าจะรับซื้อได้ประมาณเกือบ 100 เมกะวัตต์  

โดยการปรับราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จำเป็นต้องเสนอ กบง. ในครั้งนี้ก่อน จากนั้นจะนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาอนุมัติขยายโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนส่วนเกินที่เหลือจากการใช้งานในทุกประเภทเชื้อเพลิง ไปอีก 2 ปี ซึ่งไฟฟ้าส่วนที่ไม่ใช่โซลาร์เซลล์จะยังคงใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิม ส่วนไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะปรับเพิ่มการรับซื้อเป็น 1 บาทต่อหน่วย โดยจะไม่มีการกำหนดปริมาณรับซื้อโดยรวมไว้

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ทาง กกพ. จะต้องไปออกระเบียบหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว และออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งคาดว่าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนดังกล่าว จะเปิดรับซื้อพร้อมกันทุกประเภทในวันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป

Advertisment