เตรียมแจงข้อดี​ข้อเสีย​ เปิดเสรีน้ำมันสำเร็จรูปเสนอ รมว.พลังงานคนใหม่

1180
N4027
- Advertisment-

ชี้ไอเดียรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ” พีระพันธ์​ สาลีรัฐ​วิภาค”เปิดเสรีค้าขายน้ำมันสำเร็จรูป ​ กรมธุรกิจพลังงานรอข้อสั่งการพร้อมชี้แจงข้อดี​ ข้อเสีย ​ ส่วนการลดภาษีดีเซลเพื่อให้ราคาดีเซลเหลือ 30 บาทต่อลิตร สามารถทำได้แต่ต้องหารือในรายละเอียด เหตุกองทุนน้ำมันฯ ยังควักเงินชดเชยราคาดีเซลอยู่กว่า 5 บาทต่อลิตร

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงไอเดียการเปิดเสรีค้าขายน้ำมันสำเร็จรูปของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่า ขณะนี้รอการสั่งการเป็นนโยบายอย่างเป็นทางการและเตรียมข้อมูลข้อเท็จจริงถึงแนวทางการดำเนินการในทางปฏิบัติ​และข้อดี​ ข้อเสียให้ได้รับทราบ

ทั้งนี้ในส่วนเรื่องการเปิดเสรีค้าขายน้ำมันสำเร็จรูปนั้น เป็นเรื่องของกรมธุรกิจพลังงานโดยตรง เนื่องจากดูแลกฎหมายในด้านสเปกน้ำมันในประเทศ โดยเฉพาะในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันเป็นมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งมีคุณภาพสูงและจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้

- Advertisment -

ดังนั้นการจะนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาค้าขายในประเทศนั้น สามารถทำได้ ซึ่งปัจจุบันก็ทำอยู่ แต่การนำเข้าต้องแจ้งกรมธุรกิจพลังงานก่อน ส่วนใหญ่การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปนั้นจะมาในรูปแบบน้ำมันเบนซิน ดีเซล ที่ไม่ได้ผสมอะไรเลย เพื่อนำมาผสมสารต่างๆ ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของไทย เช่น นำมาผสมเอทานอล หรือ ไบโอดีเซล เพื่อให้กลายเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ หรือเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเกรดต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตามการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอาจมีต้นทุนที่สูงกว่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อมากลั่นในประเทศ เนื่องจากจะมีเรื่องภาษี ต้นทุนค่าขนส่ง และค่าประกันต่างๆ ด้วย และการนำเข้าน้ำมันดิบในไทยก็จะเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบจากดูไบ ที่เหมาะสมกับโรงกลั่นในประเทศ หากนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศอื่นคุณภาพอาจจะไม่เท่าเทียมกับน้ำมันจากดูไบได้ เป็นต้น จึงส่งผลให้ที่ผ่านมาไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากดูไบมากลั่นให้เหมาะกับคุณภาพน้ำมันในประเทศ มากกว่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป

ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการให้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อมาจำหน่ายในประเทศ จะต้องมาพิจารณาถึงกฎเกณฑ์ ข้อเท็จจริง ผลกระทบต่อโรงกลั่น และคุณภาพน้ำมันที่เหมาะกับไทยก่อน หากมีแนวทางที่ชัดเจน กระทรวงพลังงานก็พร้อมจะปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดออกมา

ส่วนกรณีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวทางจะลดภาษีดีเซล เพื่อช่วยให้ราคาขายปลีกดีเซลลดจาก 31.94 บาทต่อลิตร เหลือ 30 บาทต่อลิตรนั้น ก็สามารถทำได้ แต่ต้องดูว่าจะดำเนินการด้วยวิธีใด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยใช้วิธีการลดภาษีเพื่อไปจ่ายให้ผู้ค้าน้ำมันโดยตรง สำหรับการลดราคาหน้าปั๊มลง ส่วนใหญ่จะผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะพิจารณาลดราคาหน้าปั๊มเอง

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ได้จ่ายเงินเพื่อชดเชยราคาดีเซลถึง 5.59 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาระดับราคาจำหน่ายปลีกดีเซลไว้ที่ 31.94 บาทต่อลิตร แต่หากมีการลดภาษีดีเซล 3-5 บาทต่อลิตร ก็จะต้องมาช่วยกองทุนฯ ลดภาระการชดเชยราคาลง ซึ่ง กบน.อาจพิจารณานำเงินมาลดภาระกองทุนฯ ส่วนหนึ่งและลดราคาดีเซลหน้าปั๊มลงส่วนหนึ่ง เป็นต้น ทั้งนี้ต้องรอให้กระทรวงการคลังเสนอเรื่องการลดภาษีดีเซลเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน   

Advertisment