กระทรวงพลังงานเสนอ ครม.ตั้ง“คณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า” โดยปลัดพลังงาน สั่งเตรียมพร้อมเรียกประชุมทันทีที่ ครม.เห็นชอบ หวังจัดทำแผนบูรณาการด้านการลงทุนสายส่งและสมาร์ทกริดระยะ 5 ปี ของ 3 การไฟฟ้าไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในการลงทุน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 เห็นชอบข้อเสนอกระทรวงพลังงานจัดตั้ง “คณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า” เพื่อบูรณาการสายส่งไฟฟ้าและการลงทุนของ 3 การไฟฟ้านั้น ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) จัดตั้งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวแล้ว เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ ครม.พิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้เร่งให้เตรียมความพร้อมในการจัดการประชุมคณะกรรมการฯ ทันทีที่ ครม.อนุมัติ เพื่อให้ได้ข้อสรุปของแผนบูรณาการระยะ 5 ปี ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) และเสนอให้ กพช.พิจารณาอีกครั้ง ให้ทันตามกรอบเวลาที่ กพช.กำหนดไว้ภายในปี 2565 นี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของแผนบูรณาการฯ ดังกล่าว จะจัดทำขึ้นเพื่อให้การลงทุนพัฒนาสายส่งและโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ(สมาร์ทกริด) ของ 3 การไฟฟ้าไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพราะอยู่ต่างสังกัดหน่วยงานกันโดย กฟผ.อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ส่วน กฟน. และ PEA อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ส่งผลให้ที่ผ่านมาเกิดปัญหาการเดินสายส่งไฟฟ้า การลงทุนสมาร์ทกริดซ้ำซ้อน ในบางพื้นที่เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในการหารือของคณะกรรมการฯดังกล่าว จะพิจารณาถึงแนวทางบูรณาการแผนลงทุนของทั้ง 3 การไฟฟ้าว่าจะนำมารวมเป็นแผนเดียวกัน หรือ จะให้แยกแผนเหมือนเดิมแต่ต้องไม่เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในการลงทุน ซึ่งปกติทั้ง 3 หน่วยงานมีการจัดทำแผนการลงทุนระยะ 5 ปีของตัวเองอยู่แล้วแต่ไม่เคยนำมาพิจารณาร่วมกันมาก่อน
นอกจากนี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ฯ จะปรับเปลี่ยนวิธีพิจารณาการให้ความเห็นต่อแผนลงทุนของ 3 การไฟฟ้าใหม่ โดยที่ผ่านมาแผนการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าจะต้องผ่านการเห็นชอบจากสภาพัฒน์ฯก่อน ซึ่งต่างฝ่ายจะเสนอแผนเข้ามาให้พิจารณา แต่หากมีคณะกรรมการบูรณาการฯดังกล่าวแล้ว ทางสภาพัฒน์ฯกำหนดให้แผนการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบูรณาการชุดดังกล่าวก่อนเสนอสภาพัฒน์ได้เท่านั้น
สำหรับคณะกรรมการฯ ที่จัดตั้งขึ้นในครั้งนี้มี 12 คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและผู้อำนวยการ สนพ. เป็นกรรมการและเลขานุการ , ผู้แทน สนพ. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือผู้แทน, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือผู้แทน, ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง และผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 คณะทำงานพิเศษประสานเชื่อมโยงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (ป.ย.ป.) กระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบให้ สนพ. จัดทำร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ภายใต้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ให้สอดคล้องตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งกำหนดเป้าหมายการจัดทำแผนบูรณาการฯ ระยะ 5 ปี ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กิจกรรมการปฏิรูปที่ 5 ปรับโครงสร้าง กิจการไฟฟ้าและธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพื่อเพิ่มการแข่งขัน โดยให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ และมอบหมายให้ สนพ. นำเสนอ กพช. เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 ที่ผานมา
ทั้งนี้คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่ 3 ด้านคือ (1) จัดทำแผนบูรณาการฯ ระยะ 5 ปี ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย และนโยบายด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้า รวมถึงนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าอื่นๆ ของประเทศ เพื่อบูรณาการแผนการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และไม่เป็นภาระต้นทุนส่วนเกินต่อประชาชน
(2) พิจารณาและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะ และพื้นที่ห่างไกลให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ (3) พิจารณาและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าให้มีความทันสมัย รองรับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้เชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้สามารถรองรับการขยายความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าในอนาคต เป็นต้น