พลังงาน จ่อเสนอรายชื่อผู้ชนะประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 24 ต่อ ครม. 7 มี.ค.2566 เผยบริษัทสัญชาติไทยชนะประมูล

454
- Advertisment-

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมเสนอรายชื่อผู้ชนะประมูลขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 24 ในอ่าวไทย ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 7 มี.ค. 2566 นี้ ก่อนประกาศให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการต่อไป เบื้องต้นบริษัทสัญชาติไทยเป็นผู้ชนะประมูลด้วยระบบ PSC คาดช่วยให้เกิดการลงทุนด้านการสำรวจขั้นต่ำ 1,500 ล้านบาท พร้อมเสริมปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศให้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานความคืบหน้าการประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 24 ว่า หลังจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดเชิญชวนให้ยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทยจำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65, G2/65 และ G3/65 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) เมื่อ 27 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมานั้น ปัจจุบันได้ผู้ชนะการประมูลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย โดยขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอรายชื่อผู้ชนะประมูลเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาในวันที่ 7 มี.ค. 2566 นี้ จากนั้นจะประกาศให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการต่อไป

ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้เปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้สนใจมาขอดูข้อมูลใน DATA ROOM จำนวน 4 ราย ซึ่งเป็นบริษัทของไทย 2 ราย และบริษัทร่วมทุนต่างชาติ 2 ราย โดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้เข้าร่วมประมูลจำนวน 2 แปลงด้วย

- Advertisment -

นอกจากนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้คาดการณ์ว่า ถ้ามีการลงนามสำรวจทั้ง 3 แปลงดังกล่าว จะเกิดการลงทุนขั้นต่ำสุด 1,500 ล้านบาท และเมื่อเข้าสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์จะมีเม็ดเงินเข้ามาอีกหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งเหตุผลที่นักลงทุนสนใจเข้ามาขอข้อมูลเพราะในมุมมองนักธรณีวิทยาเห็นว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ได้ต่อโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ และด้วยปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงจึงทำให้มีรายใหม่สนใจสำรวจในแหล่งใหม่ๆ มากขึ้น

สำหรับการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 ภายใต้ระบบ PSC  บริเวณทะเลอ่าวไทยจำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย 1. แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 พื้นที่ 8,487.20 ตารางกิโลเมตร 2. แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 มีพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร 3. แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G3/65 มีพื้นที่ 11,646.67 ตารางกิโลเมตร

อย่างไรก็ตามการประมูลรอบนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ไม่ได้มีการเปิดให้สำรวจมานับตั้งแต่ปี 2550 หรือประมาณ 16 ปีมาแล้ว โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดหวังว่าพื้นที่แปลงสำรวจและผลิตดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ปัจจุบันเริ่มมีปริมาณน้อยลงไปเรื่อย ๆ ให้เพิ่มขึ้นมาได้ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ ส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการจ้างงานภายในประเทศ สร้างรายได้เข้ารัฐ และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น

Advertisment