กระทรวงพลังงาน และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการกำหนดกรอบทิศทางและการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน ให้สอดคล้องกับกรอบนโยบายพลังงานของชาติ ซึ่งยึดจากแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 20 ปี รวม 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ
พิธีลงนามดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2563 โดย นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนาม ซึ่ง นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้ร่วมลงนาม
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จะมีส่วนช่วยกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ชัดเจน สอดคล้องกับนโยบายพลังงานของชาติตามแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 20 ปี และสอดรับกับแนวทางของกระทรวงพลังงานในการเตรียมพร้อมรับมือในยุคดิจิทัล 4D+1E คือ 1.DIGITALIZATION เช่น การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการพลังงานแบบอัจฉริยะ 2.DECARBONIZATION การลดคาร์บอน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีปล่อยคาร์บอนน้อยลง 3.DECENTRALIZATION การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รองรับการกระจายศูนย์สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ 4.DE-REGULATION การผ่อนปรนกฎระเบียบ การเปิด Sandbox ให้เกิดการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านพลังงาน ส่งเสริมให้เกิด Start Up ด้านพลังงาน และ 5.ELECTRIFICATION เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายและให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านพลังงานและสร้างความเป็นเลิศในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงาน พร้อมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนากับกระทรวงพลังงานและภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานไปสู่การใช้งานจริง สำหรับ การลงนามความร่วมมือในวันนี้ เพื่อกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางงานวิจัยและพัฒนา ด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ชัดเจนและสอดคล้องกับกรอบนโยบายพลังงานของชาติ โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากชีวมวลต่าง ๆ ระบบกักเก็บพลังงาน การจัดการพลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงาน และนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งขยายผลในวงกว้างเพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานของประเทศไทย ให้มีการกำหนดโจทย์ที่เหมาะสม ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประเทศ และมีศักยภาพนำไปใช้ประโยชน์จริงให้กับทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ยังพัฒนาการดำเนินงานด้านวิชาการ สนับสนุนทรัพยากร และพัฒนาระบบข้อมูลด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานที่มีความทันสมัย ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ สร้างความมั่นคงให้กับประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป