“พระองค์ภาฯ’ เสด็จงาน “ลงแขกเกี่ยวข้าว ณ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์” สืบสานวิถีประเพณีดั้งเดิมของชาวนาไทย สร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรไทยให้ยึดมั่นวิถียั่งยืน โดย ปตท. ทูลเกล้าฯถวายพันธุ์ข้าวหอมแม่พญาทองดำและพันธุ์ข้าวเหนียวดำจันท์โอชา เพื่อทรงใช้ในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
ในวันนี้ (2 ธันวาคม 2561) พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธานในงาน “ลงแขกเกี่ยวข้าว ณ ป่าวังจันทร์ ประจำปี 2561” โดยมี นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ผู้บริหาร ปตท. ข้าราชการ และพสกนิกรอำเภอวังจันทร์ ร่วมเฝ้ารับเสด็จ นอกจากนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทอดพระเนตรพิธีบายศรีขวัญข้าว และทรงเกี่ยวข้าวบนแปลงนาสาธิตในพื้นที่แปลงวิจัยป่าวนเกษตร ณ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ในพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กิจกรรม “ลงแขกเกี่ยวข้าว ณ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2558 โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ร่วมกับชุมชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสืบสานประเพณีดั้งเดิมของชาวนาไทย และรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ให้คงอยู่ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นบนแปลงนาข้าวสาธิตในพื้นที่วิจัยป่าวนเกษตร ที่มีการปลูกไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชสวน รวมถึงการทำนาแบบผสมผสานในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจัดเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศป่ารูปแบบหนึ่งที่พึ่งตนเองอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนในเรื่องเศรษฐกิจและระบบนิเวศควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ข้าวใหม่ที่เก็บเกี่ยวจากแปลงนาสาธิตในฤดูกาลนี้ ได้แก่ ข้าวหอมแม่พญาทองดำ ซึ่งเป็นข้าวโบราณพันธุ์พื้นเมืองหายาก มีสรรพคุณทางยา มีสารต้านอนุมูลอิสระและใช้เป็นยาระบายได้ ช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ลดไขมันอุดตัน และข้าวเหนียวดำจันท์โอชา โดยมีที่มาจากคำว่า “จันท์” หมายถึง จังหวัดจันทบุรี “โอชา” หมายถึง มีรสชาติหอม อร่อย มีสารอาหารที่ช่วยบำรุงเลือด และบำรุงธาตุของร่างกาย นิยมใช้ทำขนม สำหรับงานประเพณีต่าง ๆ ของท้องถิ่น
ปตท. มุ่งหวังว่ากิจกรรมนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง “ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์” ซึ่งถือเป็นสมาชิกใหม่ของอำเภอวังจันทร์ กับประชาชน ชุมชนและหน่วยงานภาคีท้องถิ่น รวมทั้งเกิดการถ่ายทอดความรู้การปลูกข้าวในระบบการปลูกฟื้นฟูแบบวนเกษตร ตามหลักวิชาการผ่านแปลงนาสาธิต ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดภาวะโลกร้อน ควบคู่กับการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว เกษตรกรสามารถผลิตอาหารปลอดภัยเลี้ยงครอบครัว โดยยึดหลักความยั่งยืนและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและในขณะเดียวกันคำนึงถึงสมดุลของธรรมชาติ” นายชาญศิลป์ กล่าว
ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ เป็นภารกิจสำคัญของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ที่ต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ทำหน้าที่เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ถ่ายทอดความรู้ด้านฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ล่าสุดในปี 2561 ได้รับรางวัลอันน่าภาคภูมิใจจากสมาพันธ์ภูมิสถาปนิกนานาชาติ ประเภท “การพัฒนาสร้างสรรค์แหล่งที่อยู่ความหลากหลายทางชีวภาพ และสัตว์ป่า”