พพ.รับฟังความเห็นร่างแผนอนุรักษ์ EEP 2022 ประหยัดพลังงาน 36% หรือกว่า 5 แสนล้านบาท คาดเริ่มใช้ปี 2566

1265
- Advertisment-

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเวทีรับฟังความเห็น “ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2565-2580 หรือ  EEP 2022” ตั้งเป้าลดความเข้มการใช้พลังงาน (EI) ในปี พ.ศ. 2580 ให้ได้  36% หรือลดใช้พลังงานได้ 35,497 ktoe คิดเป็นมูลค่า 532,455 ล้านบาท และลด EI ในปี พ.ศ. 2593 ให้ได้ 40% เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593  ระบุหลังรับฟังความเห็นแล้วจะรวบรวมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณา เพื่อเริ่มใช้ในไตรมาส 2 ปี 2566 นี้

วันที่ 22 พ.ย. 2565 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2565 – 2580 (Energy Efficiency Plan : EEP 2022) ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมรับฟังและแสดงความเห็นต่อร่างแผน EEP 2022 เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, กระทรวงการคลัง และประชาชนที่สนใจ เป็นต้น ซึ่งแผน EEP 2022 ถือเป็นหนึ่งในแผนด้านพลังงานที่สำคัญภายใต้แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022 : NEP)

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวในการสัมมนา “เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2565 – 2580 (Energy Efficiency Plan : EEP 2022)” ว่า  ในร่างแผน EEP 2022 ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผน EEP 2018 โดยปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน Energy Intensity ในปี พ.ศ. 2580 จากเดิม 30% เป็น 36% หรือคิดเป็นพลังงานที่คาดว่าจะลดได้ 35,497 ktoe และตลอดถึงปี พ.ศ. 2593 มีเป้าหมายที่จะลดได้ถึง 40% หรือ 64,340 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ)

- Advertisment -

โดยได้กำหนดมาตรการที่สำคัญไว้อย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกภาคส่วน ได้แก่ การกำกับดูแลตามกฎหมายโรงงานอาคารควบคุม เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code) การส่งเสริมมาตรฐานอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและฉลากเบอร์ 5 การส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรม Smart Farming และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคขนส่ง เป็นต้น

สำหรับแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2565-2580 เป็น 1 ใน 5 ของแผนพลังงานชาติ ซึ่งถือเป็นแผนพลังงานฉบับใหม่ที่จะพัฒนายกระดับด้านพลังงานของประเทศรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในอนาคต และมีบทบาททำให้ประเทศมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสถานการณ์การอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทยในปี 2564 สามารถลดความเข้มข้นการใช้พลังงาน (EI) ได้ 18.97% จากเป้าหมาย 30% ในปี พ.ศ. 2580 (ตามแผน EEP 2018) โดยมีการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายอยู่ที่ 71,998 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ(ktoe) สูงกว่าเป้าหมายในแผน EEP 2018 ที่ต้องการให้เกิดผลประหยัดเท่ากับ 49,064 ktoe

อย่างไรก็ตามในการจัดทำแผน EEP 2022 ฉบับใหม่นี้ ได้ปรับเป้าหมายผลประหยัดพลังงานในปี พ.ศ. 2580 ให้ได้ 35,497 ktoe (ตัวเลขน้อยกว่าแผนเดิม เนื่องจากมีการทำแผนประหยัดพลังงานมาก่อนบ้างแล้ว) และลด EI ให้มากขึ้นเป็น 36% นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายสำหรับปี 2593 ให้มีผลประหยัดพลังงานให้เท่ากับ 64,340 ktoe และลด EI ให้มากขึ้นเป็น 40% เพื่อไปสู่เป้าหมายใหญ่ที่ไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) ภาคพลังงานใน พ.ศ. 2593 หรือลดคาร์บอนให้ได้ 95.5 ล้านตัน

โดยแผนดำเนินงานอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2565-2580 กำหนดสัดส่วนให้เกิดการประหยัดด้านพลังงานไฟฟ้า 25% และด้านพลังงานความร้อน 75% โดยภาคไฟฟ้าจะให้เกิดการประหยัดรวม 8,761 ktoe  ซึ่งมาจากวิธีภาคบังคับ  2,679 ktoe และวิธีภาคส่งเสริมอีก 6,083 ktoe ส่วนด้านความร้อนให้เกิดการประหยัดพลังงานรวม 26,736 ktoe ซึ่งมาจากภาคบังคับ 5,672 ktoe และภาคส่งเสริม 21,063 ktoe

ทั้งนี้การประหยัดพลังงานทั้งด้านไฟฟ้าและความร้อนจะก่อให้เกิดผลการลดใช้พลังงานได้ 35,497 ktoe ตามเป้าหมาย หรือคิดเป็นมูลค่า 532,455 ล้านบาท รวมทั้งช่วยให้เกิดการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 106 ล้านตันคาร์บอนฯเทียบเท่า  

โดยหลังจากนี้ พพ. จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อมูล เพื่อจัดทำร่างแผนอนุรักษ์พลังงานที่สมบูรณ์เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ต่อไป โดยแผนดังกล่าวจะบรรจุรวมอยู่ในแผนพลังงานชาติและจะเริ่มประกาศใช้ได้ประมาณ ไตรมาส 2 ของปี พ.ศ. 2566 นี้

Advertisment