กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) นัดหารือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ภายในเดือน ก.พ. 2564 นี้ เพื่อติดตามผลศึกษาแนวทางจัดตั้งโรงงานกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ที่เคยลงนามความร่วมมือกันไว้เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา แนะส่งเสริมโรงงานเดิมที่รับจ้างกำจัดซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทนการตั้งโรงงานใหม่ เพื่อให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้เพิ่ม โดยกระจายโรงงานให้ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ รองรับแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่เกือบทุกจังหวัดในไทย
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) มีกำหนดหารือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ภายในเดือน ก.พ. 2564 นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการศึกษาแนวทางการกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคต จากที่ก่อนหน้านี้ พพ. ได้เคยลงนามความร่วมมือ(MOU) กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 10 ล้านบาท ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมฯรับหน้าที่ไปศึกษาข้อมูลและรูปแบบโรงกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ของไทย เพื่อรองรับแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเริ่มหมดอายุและต้องกำจัดอย่างถูกต้องในอนาคตต่อไป
อย่างไรก็ตาม พพ. เห็นว่าโรงงานกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ควรมีกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ และไม่ควรมีโรงกำจัดแค่โรงเดียว เนื่องจากปัจจุบันมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจำนวนมากและกระจายอยู่เกือบทุกจังหวัดในไทย หากระบบโรงกำจัดซากอยู่ไม่ไกลเกินไปก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการสะดวกต่อการนำไปกำจัดได้มากขึ้น
นอกจากนี้เห็นว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงกำจัดซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายรายอยู่แล้ว จึงควรสนับสนุนให้กลุ่มดังกล่าวสามารถรับกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ได้ด้วย เพื่อเป็นการช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายเดิม
ทั้งนี้แผงโซลาร์เซลล์มีแค่ส่วนที่เป็นสาร EVA ซึ่งเป็นสารเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ด้านในที่ป้องกันไม่ให้น้ำและอากาศเข้าไปได้เท่านั้น ที่เป็นอุปกรณ์ที่จะต้องนำไปกำจัดที่โรงกำจัดซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ ซิลิกอน อลูมิเนียม ล้วนสามารถนำไปรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ดังนั้นขยะอิเล็กทรอนิกส์ของแผงโซลาร์เซลล์จริงๆ แล้วจึงมีปริมาณไม่มาก และหากบ้านที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาไม่ต้องการถอดทิ้งเมื่อหมดอายุ ก็สามารถติดตั้งไว้บนหลังคาได้ต่อไปโดยไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อเดือน ม.ค.ของ ปี 2563 ที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็เคยมีการลงนามความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อศึกษาการจัดตั้งโรงงานต้นแบบกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่แห่งแรกในประเทศไทย เช่นกัน โดยระบุจะใช้เวลาศึกษา 2 ปี เพื่อรองรับขยะแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นล็อตแรกในปี 2565 จำนวน 112 ตัน ในขณะที่แนวโน้มในอนาคตจะมีขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.55 ล้านตัน ในปี 2600 ซึ่งหากไม่มีการวางแผนที่เหมาะสม จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ