ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ เร่งภารกิจ 5 ด้าน เน้นสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

763
- Advertisment-

“เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ ไฟแรง แถลงนโยบายเร่งด่วน  5 ด้าน เน้นย้ำรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าประเทศ ดูแลราคาค่าไฟฟ้าให้เหมาะสม แนะรัฐจัดทำค่าไฟฟ้าให้นิ่ง โดยปรับทุก 1 ปีแทนทุก 4 เดือน หวังช่วยภาคอุตสาหกรรมวางแผนการลงทุนสะดวก ยืนยันมีสภาพคล่อง 9 หมื่นล้านบาท หวังรัฐชำระหนี้คืน 7 งวดตามที่ตกลง เพื่อไม่ให้กระทบเสถียรภาพทางการเงินในอนาคต เผยมีแผนลงทุนปี 2567 นี้ 3-4 หมื่นล้านบาท ขยายการลงทุนโครงการปรับปรุงระบบส่ง เดินหน้าโครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนกฟผ. กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กฟผ. คนที่ 16 ว่า งานสำคัญที่จะเร่งดำเนินการในระหว่างการเป็นผู้ว่า กฟผ. 1 ปี 4 เดือนจากนี้ คือ ภารกิจสำคัญ 5 ด้าน คือ 1.การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า รองรับความท้าทายทั้งจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนสูง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ กฟผ. จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก อาทิ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) การพัฒนาศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง

“มองไป 4-5 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2573 มีความเสี่ยงที่โรงไฟฟ้าที่ควบคุมได้จะถูกกระทบจากโรงไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้อย่างพลังงานหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบมากขึ้น ก็อาจต้องเจรจากับภาคนโยบายเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ควบคุมได้ หรือวางแผนบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพหรือควบคุมได้เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้าและไม่นำไปสู่การสุ่มตัดไฟฟ้าในบางพื้นที่เหมือนในอดีตที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2521”

- Advertisment -

2.บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและในพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด ซึ่งในปี 2567 นี้ กฟผ.ก็มีแผนจะนำเข้า LNG มาใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนให้กับโรงไฟฟ้าบางปะกง ปริมาณ 1.1 ล้านตัน พร้อมสนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า ส่วนประชาชนที่เสียประโยชน์ควรได้รับการชดเชย นอกจากนี้ กฟผ. ยังสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้

“กฟผ. มองว่า ค่าไฟฟ้าของประเทศควรจะมีราคาต่ำและนิ่ง ไม่ปรับราคาเร็วเกินไป หรืออาจปรับทุก 1 ปี จากปัจจุบัน ที่ปรับต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร(FT) ทุก 4 เดือน เพราะอาจทำให้การวางแผนการลงทุนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมประเมินได้ยาก ซึ่งอาจกระทบต่อการแข่งขันของประเทศได้”

3.การออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ซึ่งจะเป็นการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจนซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย

4.กฟผ.พร้อมเป็นกลไกสำคัญของรัฐ ในการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ. ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ในเบื้องต้นจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถดำเนินการได้ทันที

5 กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ. ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง

“ปัจจุบัน กฟผ. มีสภาพคล่องอยู่ที่ระดับกว่า 90,000 ล้านบาท ซึ่งดีขึ้นจากอดีตหลังจากรัฐได้เข้ามาดูแลต้นทุนค่าก๊าซฯ ควบคู่กับการดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้า และกฟผ. คาดหวังว่า จะได้รับการชำระคืนเงินที่แบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนในส่วนที่เหลือตามกรอบที่รัฐกำหนดไว้ภายใน 7 งวด หรือจะชำระครบภายในปี 2570 เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม กฟผ.มีแผนจะใช้เงินลงทุนปี 2567 นี้ ประมาณ  30,000-40,000 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนโครงการปรับปรุงระบบส่ง เดินหน้าโครงการโซลาร์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อน กฟผ. ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP ที่มีกำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ จากที่ดำเนินการไปแล้ว 2 เขื่อน คือ เขื่อนสิรินธร 45 เมกะวัตต์ และเขื่อนอุบลรัตน์ 24 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้การลงทุนส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดการลงทุนเพื่อนำเสนอต่อบอร์ด กฟผ. พิจารณาอนุมัติงบลงทุนเพื่อดำเนินการตามแผนต่อไป อีกทั้งงบลงทุนส่วนที่เหลือ ยังต้องใช้สำหรับโครงการบางส่วนที่ลงทุนไปแล้วให้เสร็จสิ้นตามแผนที่วางไว้

Advertisment