ผู้ผลิตไฟฟ้าไทยหมุนตามโลก เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน หนุน EV ตั้งเป้าลดปล่อยคาร์บอน

1224
- Advertisment-

3 การไฟฟ้า ปรับตัวรับทิศทางพลังงานสะอาดและโลกดิจิตอล กฟผ. เตรียมเสนอกระทรวงพลังงานเพิ่มการผลิตโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด มากกว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์ หลังโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร 45 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าแล้ว หวังช่วยชาติเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียน ด้านการไฟฟ้านครหลวง ตั้งเป้าลดคาร์บอน 1 ล้านตัน ดันสถานีชาร์จ EV ถึง 500 แห่งในอีก 4 ปีข้างหน้า ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้รับอนุมัติโครงการ Smart Grid  12 โครงการ มูลค่า 253,121 ล้านบาท เดินหน้าดันสมาร์ทมิเตอร์ถึงทุกครัวเรือน นำร่องพัทยาและพื้นที่ EEC ส่วนบริษัท GPSC ยืนยันเพิ่มสัดส่วนผลิตพลังงานทดแทนเป็น 5,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 2,000 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าปี 2568 ถึง 11,000 เมกะวัตต์

วันที่ 22 เม.ย.2565 สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ได้ร่วมกับกลุ่ม Women in Power (WiP) จัดเสวนา IEEE PES DAY 2022 ในหัวข้อ พลังขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ยั่งยืน (Powering a Sustainable Future) โดยมีผู้ว่าการจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA),การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นวิทยากร

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ขวามือ บนจอภาพ)

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. จะเสนอกระทรวงพลังงานเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด มากกว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์ จากเดิมที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) มอบหมายให้ กฟผ.ผลิต โซล่าร์ลอยน้ำไฮบริดจำนวน 2,725 เมกะวัตต์ 16 โครงการทั่วประเทศ โดยล่าสุดได้ทำโครงการแรกเสร็จแล้ว คือโครงการโซลาร์ฯ นำร่องที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแห่งแรก มีกำลังผลิตติดตั้ง 45 เมกะวัตต์ ทั้งนี้เพื่อรองรับทิศทางพลังงานทดแทนของประเทศ

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามขณะนี้ โลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดย กฟผ. พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเป้าหมายของประเทศไทยที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดและตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 โดย กฟผ. ได้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายของ กฟผ. เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

ทั้งนี้ กฟผ. ได้กำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน รวมถึงมุ่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) เพื่อรับมือกับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้นและทำให้ระบบไฟฟ้ามีความซับซ้อน เนื่องจากความไม่แน่นอนของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน แต่ก็สร้างโอกาสในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) ซึ่งจะช่วยรองรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนและช่วยยกระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดย กฟผ. มีแผนพัฒนาศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น สถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล ศูนย์ควบคุมสั่งการตอบสนองด้านโหลด ระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ และโรงไฟฟ้าเสมือน เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

อีกทั้ง ยังมีการสร้างการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าข้ามพรมแดน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบไฟฟ้า และเป็นภารกิจลำดับต้น ๆ ของ กฟผ. ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และเพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดพลังงานหมุนเวียน

นายบุญญนิตย์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ประชาชนที่ใช้รถยนต์หันไปใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลในปี 2563 พบว่า ประเทศไทย มีการใช้รถไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้น 30% ซึ่งน่าจะสอดรับกับเป้าหมายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐตามนโยบาย 30@30 ที่จะมีการใช้รถไฟฟ้า 30% ในปี ค.ศ.2030 โดยในส่วนของ กฟผ. ได้ให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมกับเรื่องนี้ ทั้งการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในแบบ Fast charging และ Normal  charging ซึ่งในปี 2567 จะมีความพร้อมรองรับการชาร์จพร้อมกันถึง 6 แสนคัน และหากจัดสรรการชาร์จให้ดี เช่น ช่วงกลางวันชาร์จ 50% และแบ่งชาร์จกลางคืน 50% จะทำให้สามารถรองรับการชาร์จได้กว่า 1 ล้านคัน  อีกทั้ง หากในอนาคตจำนวนรถอีวี เพิ่มขึ้นมาก กฟผ.ยังได้จัดทำเรื่องของ EGAT’s Smart Charging Platform เพื่อเข้ามาจัดคิวการชาร์จรถอีวีและช่วยลดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดังนั้น กฟน. ได้กำหนดทิศทางคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยและดูดกลับจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์) โดยกำหนดลดคาร์บอนให้ได้ 1 ล้านตัน จาก 4 ส่วนคือ 1. ภายในองค์กรและระบบไฟฟ้า เบื้องต้นได้นำเอารถ EV 60-70 คันมาใช้เป็นรถผู้บริหาร และปรับสำนักงานที่มีอยู่ให้เป็นกรีนออฟฟิศ เป็นต้น 2. ด้านลูกค้า ได้มีโครงการที่ชวนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลดใช้ไฟฟ้า 3. เทคนิคเฉพาะทาง เช่น สารทำความเย็น ก็ปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และ 4. พร้อมร่วมมือภาครัฐดำเนินการลดคาร์บอน

การก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ดำเนินการหลายด้าน โดย กฟน. ได้ส่งเสริมการใช้รถ EV ซึ่งปัจจุบัน กฟน. มีสถานีชาร์จรถ EV 24 สถานี รวม 44 หัวชาร์จ มีแผนจะเพิ่มอีกปีละ 100 หัวชาร์จ รวมประมาณ 500 สถานี ในอีก 4 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดย กฟน.มีโซลาร์เซลล์ทั้งสิ้น 240 เมกะวัตต์ ทั้งขายและใช้เอง โดยปัจจุบันมีลูกค้า 4,000 ราย  รวมทั้งยังมีแพลตฟอร์ม การบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าของรถ EV ร่วมกับ 2 การไฟฟ้าด้วย โดยกำลังศึกษาการใช้งาน และหลังจากนั้นจะจัดเป็นแพลตฟอร์มกลางของประเทศต่อไป

นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)

นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า ทิศทางโลกและประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด ซึ่ง PEA ได้นำมากำหนดเป็นทิศทางการบริหารงานของ PEA เช่นกัน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการสูญเสียในหลายๆ ด้าน ทั้งการทำสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ทมิเตอร์ ) เป็นต้น และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการมิเตอร์อัจฉริยะ ( SMOC) มาเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อบริหารการใช้ไฟฟ้าของลูกค้า PEA

นอกจากนี้ PEA ได้จัดทำโครงการ Smart Grid จำนวน 12 โครงการ มูลค่า 253,121 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี (พ.ศ.2565-2575) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยได้เริ่มโครงการแรกคือการติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์นำร่องที่พัทยา 1.1 แสนเครื่อง ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว และกำลังพิจารณาติดตั้งอีก 5 หมื่นเครื่องในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านการจ้างผู้คิดเงินและออกบิลค่าไฟฟ้าตามบ้านเรือนประชาชน ซึ่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าแต่ละบ้านจะส่งมายัง PEA ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเห็นการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบมือถือด้วย และจะทำให้ลดปัญหาความผิดพลาด และข้อโต้แย้ง ในการคิดค่าไฟฟ้าในอนาคตได้ นอกจากนี้ PEA จะต้องตั้งศูนย์ SMOC ให้มากขึ้น เพื่อเป็นที่รวบรวมข้อมูลการใช้ไฟฟ้าประชาชนเพื่อนำมาบริหารการใช้ไฟฟ้าต่อไป

นายวรวัฒน์ พิทยสิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

นายวรวัฒน์ พิทยสิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า สังคมโลกมีการต่อต้านไม่ทำธุรกิจกับบริษัทที่ใช้พลังงานฟอสซิล ดังนั้นเชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทยจะลดลงเรื่อยๆ และเปลี่ยนไปเป็นก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน โดยในส่วนของ GPSC จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้นเป็น 5,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีอยู่ 2,000 เมกะวัตต์ และในปี 2568 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวมเป็น 11,000 เมกมะวัตต์

Advertisment