ผู้ประกอบการ43รายสนใจร่วมประมูล นำเข้า LNG ให้กฟผ.

290
- Advertisment-

กฟผ. เผยผู้ประกอบการ 43 รายทั้งในและต่างประเทศ ยื่นเอกสารแสดงความสนใจร่วมประมูลนำเข้าก๊าซ LNG โควต้าไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี คาดคัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติเสร็จต.ค. 2561 และรู้ผลต้นปี 2562 หวังนำก๊าซฯมาใช้กับโรงไฟฟ้าวังน้อย เล็งนำเข้าล็อตแรกปลายปี 2562

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผนพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยความคืบหน้าการออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ผลิตหรือผู้ค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ยื่นเอกสารแสดงความสนใจเป็นผู้จัดหา LNG ในปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปีให้กับกฟผ.ว่า ได้ปิดการยื่นเอกสารเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2561 มีผู้ยื่นแสดงความสนใจทั้งสิ้น 43 รายจากทั้งในและต่างประเทศ และคาดว่าจะรู้ผลผู้ที่ผ่านคุณสมบัติในช่วงเดือน ต.ค.2561 หลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาและยื่นเอกสารประกวดราคา ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลผู้ชนะประมูลและลงนามสัญญาจัดหา LNG ได้ในช่วงต้นปี 62 เพื่อนำเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ช่วงปลายปี 2562

ทั้งนี้ กฟผ.และ Fact Global Energy (FGE) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาจากยุโรป จะร่วมกันตรวจสอบผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ ซึ่งเบื้องต้นจะต้องเป็นผู้ที่ประสบการณ์ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซฯ รวมถึงมีความสามารถในการจัดส่งก๊าซฯ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้รับ LNG ตามปริมาณที่ต้องการ หลังจากนั้นจะแจ้งต่อผู้เข้าร่วมแสดงความสนใจก่อนจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาต่อไป

- Advertisment -

สำหรับ LNG ที่จัดหามาได้นั้นจะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่ประสิทธิภาพดีที่สุดของกฟผ.  เบื้องต้นกฟผ.จะใช้สำหรับโรงไฟฟ้าวังน้อย ยูนิต 4 ขนาด 600-700 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นยูนิตใหม่ ที่มีความต้องการใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงราว 7-8 แสนตันต่อปี  หากสามารถจัดหา LNG ได้มากกว่าปริมาณดังกล่าวก็จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าบางปะกง ยูนิตใหม่ด้วย โดยการนำเข้า LNG ล็อตแรกน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2562

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้จัดหา LNG ให้กับกฟผ.นั้นจะพิจารณาที่ราคาต่ำสุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยกำหนดขั้นต่ำในการจัดส่ง LNG ที่ 8 แสนตันต่อปี และกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่อนุญาตให้กฟผ.จัดหา LNG ในปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี ส่วนระยะเวลาการนำเข้านั้นขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ซื่งคงต้องมีการเจรจาและสรุปกันอีกครั้ง ก่อนจะออกเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ด้านราคาต่อไป และหลังการคัดเลือกผู้ชนะประมูลแล้วก็จะนำเสนอต่อกพช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา

Advertisment