ภายในเดือนกันยายน 2563 นี้ ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่นซึ่งเคยอยู่ในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ที่มีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน จะถูกรื้อถอนและเคลื่อนย้ายด้วยเรือยกขนาดใหญ่ มาจัดวางเป็นปะการังเทียมบริเวณห่างจากเกาะพะงันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 7.5 ไมล์ทะเลจนครบทั้งหมด โดยในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เชื่อมั่นว่าพื้นที่ขนาด 2 คูณ 2 ตารางกิโลเมตรที่ถูกเลือกให้จัดวางกองปะการังเทียมรูปแฉกดาวขนาด 0.05 ตารางกิโลเมตร แห่งนี้ จะสร้างประโยชน์ทางด้านการประมง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ดึงดูดนักดำน้ำชมปะการังจากทั่วโลก ให้เดินทางมาสัมผัสความงามใต้ท้องทะเลอย่างต่อเนื่อง สร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ ให้กับคนในจังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยเฉพาะที่ เกาะพะงัน เกาะสมุย และเกาะเต่า ที่จะกลายเป็นจุดแวะพักสำคัญ
เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พาคณะสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนั่งเรือออกไปดูการเคลื่อนย้ายขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นขาแท่นที่ 4 จากจำนวน 7 ขาแท่น ในบริเวณใกล้จุดจัดวางปะการังเทียม ภายใต้ โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เรือยกขนาดใหญ่ที่ใช้เคลื่อนย้ายขาแท่นเหล่านี้ มีสมรรถนะในการยกสิ่งของซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 3,000 ตัน หรือ มากกว่า 4-8 เท่าของน้ำหนักขาแท่นจริง ทำหน้าที่ลากจูงขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม น้ำหนักประมาณ 300–700 ตัน ขนาดฐานกว้างประมาณ 20-22.5 เมตร สูง 70-84 เมตร หรือสูงมากกว่าตึก 20 ชั้น ด้วยการลากขาแท่นในแนวดิ่งที่มีบางส่วนอยู่ใต้น้ำตลอดเวลา ด้วยความเร็วต่ำตามที่กำหนด
ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมขาที่ 4 ถูกรื้อถอนและย้ายมาจากแหล่งผลิตปิโตรเลียมปลาทอง มีระยะทางห่างจากจุดที่จัดวางทำปะการังเทียม ประมาณ 150 กิโลเมตร การที่เรือยกต้องแล่นด้วยความเร็วต่ำ เพื่อที่จะรักษาสภาพความสมบูรณ์ของปะการังและสัตว์ทะเลที่เกาะติดอยู่ที่ผิวของขาแท่นเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
ส่วนของขาแท่นที่นำมาจัดวาง เมื่อล้มลงในแนวนอนจะมีความสูงประมาณ 20-22.5 เมตร และเมื่อวางขาแท่นที่ระดับน้ำ 38.5-39.5 เมตร จะทำให้ส่วนที่สูงที่สุดของยอดกองปะการังเทียมห่างจากผิวน้ำไม่น้อยกว่า 15 เมตร เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ
โดยเหตุผลที่ต้องมีการรื้อถอนขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ก็เพราะบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่รัฐไม่ได้รับโอนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทาน ตามกฏหมาย
ในแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ ที่มีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทานนั้น จะต้องดำเนินการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไม่ได้รับโอนไปใช้ประโยชน์ จำนวน 49 แท่น (รวม 7 ขาแท่นที่นำมาจัดวางเป็นปะการังเทียมของโครงการนำร่อง) ทั้งนี้ การรื้อถอนโครงสร้างแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นโครงสร้างส่วนบนที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล (Topside) สามารถรี้อถอนได้โดยนำไปบริหารจัดการบนฝั่ง หรือ นำไปใช้ประโยชน์ใหม่ในกิจการปิโตรเลียม กับส่วนที่สองเป็นโครงสร้างส่วนของขาแท่นที่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเล (Jacket) สามารถรื้อถอนโดยขนย้ายขึ้นไปจัดการบนฝั่ง หรือ การรื้อถอนและขนย้ายเพื่อมาทำเป็นปะการังเทียม โดยต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้สัมภาษณ์บนเรือระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเดินทางมาสังเกตการณ์ ว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาจัดทำปะการังเทียมเพื่อเป็นการอนุรักษ์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในทะเลปีละประมาณ 100 ล้านบาทอยู่แล้ว การที่สามารถนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมซึ่งมีความคงทน แข็งแรง ทำจากเหล็กกล้า (carbon steel) ที่จัดสร้างเพื่อใช้งานในทะเลโดยเฉพาะ มาจัดวางเป็นปะการังเทียมเพิ่มเติม โดยได้รับการสนับสนุนงบจากทางเชฟรอน จึงถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการจัดวางปะการังเทียม
ทั้งนี้ ในปี 2556 ที่มีการเริ่มดำเนินการทำปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำลอง ที่อ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน ซึ่งเป็นขาแท่นจำลองที่ใช้วัสดุเหล็กกล้าแบบเดียวกัน โดยที่มีทางสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ติดตามและประเมินผล ก็พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า วัสดุขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่นำมาวางเป็นปะการังเทียม สามารถเป็นที่เกาะติดของปะการังและสัตว์ทะเล รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ปลา สัตว์ทะเลหลากหลายชนิด อย่างได้ผล
นายโสภณ กล่าวด้วยว่า หลังจากการจัดวางขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมทั้ง 7 ขาเสร็จแล้ว ทช. และจุฬาฯ ซึ่งได้รับงบประมาณจากทางเชฟรอน 22.8 ล้านบาท จะร่วมกันติดตามและประเมินผลโครงการฯ ดังกล่าวในช่วง 2 ปีนี้ ก่อนนำไปสู่การขยายผลในอนาคตต่อไป โดยกรมฯ จะมีการออกระเบียบที่จะคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวเอาไว้ เพื่อป้องกันการรุกล้ำเข้ามาทำประมงด้วยอุปกรณ์เครื่องมือที่ไม่ได้รับอนุญาต ที่จะช่วยให้บริเวณดังกล่าว เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นที่รวมของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธ์ุ
โดยในอนาคตอันใกล้นี้ เชื่อมั่นว่า บริเวณที่จัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จะเป็นจุดรองรับเรือทัวร์ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ชื่นชอบการดำน้ำดูปะการังที่มาพักที่เกาะพะงัน เกาะสมุย และเกาะเต่า ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยังช่วยลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดำน้ำในแนวปะการังธรรมชาติเดิมด้วย
ด้านนายอรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการแผนกรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เลิกใช้งานในกิจการปิโตรเลียม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันขาแท่นทำหน้าที่เสมือนปะการังเทียมอยู่แล้ว เพราะมีโครงสร้างซับซ้อนและมีความทนทาน เหมาะในการลงเกาะของปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นอย่างดี การย้ายขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่สัมปทานเพื่อนำมาจัดวางเป็นปะการังเทียมในบริเวณที่ใกล้กับชายฝั่งมากขึ้น และเป็นจุดที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบร่วมกัน จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศในหลายด้าน ทั้งการเพิ่มพูนทรัพยากรทางทะเล และเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน
โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ มีหน่วยงานภาครัฐคอยกำกับดูแลในทุกขั้นตอน และบริษัทเชฟรอนเองก็ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล
อย่างไรก็ตาม สำหรับการนำขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียมในระยะถัดไปนอกเหนือจากโครงการนำร่องนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยจะพิจารณาจากผลการศึกษาของโครงการนำร่องนี้ ส่วนกระบวนการในระยะยาวจะได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องมีการติดตามต่อไป แต่แนวโน้มเป็นไปด้วยดี นายโสภณ กล่าวทิ้งท้าย