ปลัดพลังงานเร่งแก้ระเบียบกองทุนอนุรักษ์พลังงานให้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

915
- Advertisment-

ปลัดพลังงาน เร่งแก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่เป็นปัญหาต่อการขอรับการสนับสนุนโครงการเพื่อให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการดำเนินการมากขึ้น

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หนึ่งในงานที่มีความตั้งใจจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้จบในช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง คือการเข้าไปแก้ไขทบทวนระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 ที่เป็นปัญหาต่อการสนับสนุนส่งเสริมโครงการต่างๆ โดยเฉพาะเกิดงานที่ไม่จำเป็นจากงาน paper work จำนวนมาก ทั้งในส่วนของผู้ขอรับการสนับสนุน และในส่วนของสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) 

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC ) รายงานว่า  ฐานะของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ณ วันที่ 31 ส.ค. 2566 กองทุนฯ เหลือเงินประมาณ 13,007 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เรียกเก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซิน, น้ำมันดีเซล, น้ำมันแก๊สโซฮอล์, น้ำมันก๊าด และน้ำมันเตา ส่งเข้ากองทุนฯ 0.05 บาทต่อลิตร

- Advertisment -

โดยปัจจุบันได้เปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอใช้เงินกองทุนฯ ประจำปี 2566 ไปแล้วโดยมีวงเงินสนับสนุนเหลือเพียง 2,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลืออุดหนุนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนที่ไม่มุ่งแสวงหากำไร ให้ได้รับการจัดสรรเงินดังกล่าวสำหรับนำไปใช้ให้เกิดการประหยัด การผลิตและการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 รวมถึงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580  ซึ่งวงเงิน 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 แผนงาน ได้แก่ 1. แผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงินรวม 1,850 ล้านบาท และ 2. แผนงานบริหารจัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(ส.กทอ.) วงเงิน 150 ล้านบาท

ทั้งนี้การให้เงินสนับสนุนในปี 2566 ถือว่าลดลงต่ำที่สุดนับจากปี 2564 ที่ให้เงินสนับสนุนถึง 6,500 ล้านบาท และปี 2565 เหลือ 3,850 ล้านบาท

ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการภายใต้การสนับสนุนของกองทุนฯ มักมีปัญหาในทางปฏิบัติ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใส เงินกองทุนฯถูกใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มนักการเมือง ทำให้ถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบอย่างเข้มงวด ในการจัดทำงบดุลการเงินในแต่ละปี

Advertisment