ปลัดพลังงานเร่งพิจารณาข้อเสนอผู้ตรวจการแผ่นดินให้รัฐถือหุ้นโรงไฟฟ้าเกิน51%

1661
- Advertisment-

ปลัดกระทรวงพลังงาน เผยได้รับหนังสือจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว โดยจะเร่งพิจารณาตามขั้นตอน ในขณะที่ มนูญ ศิริวรรณ ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ชี้กระทรวงพลังงานจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นเพียงคำเสนอแนะ  แต่เพื่อให้เหมาะสม ควรปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ให้รัฐมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าเกิน 51% ได้ จากที่ปัจจุบันมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าประมาณ 36% ของทั้งประเทศ   แต่ไม่ควรรื้อโรงไฟฟ้าในส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว 

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2562 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน  นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เพื่อหาทางออกกรณีคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินต่อกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 1ก.ค. 2562 ที่เสนอแนะให้กระทรวงพลังงานปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP 2018 เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 51% ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 56 วรรคสอง โดยให้พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัย และดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายในกำหนด 10 ปี นับจากปี พ.ศ. 2562

โดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  กระทรวงพลังงาน ได้รับหนังสือจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว และจะได้เร่งพิจารณาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวตามขั้นตอน พร้อมทั้งยืนยันว่าการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือแผนPDP ที่ผ่านมา ที่ให้เอกชนมีบทบาทร่วมในการผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงประกาศในแผน PDP2010 เมื่อปี 2553 แผน PDP2015 ปี 2558 และล่าสุด PDP2018 ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2562 นั้น เป็นการดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด

- Advertisment -
มนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน

ในขณะที่ นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินต่อกระทรวงพลังงาน ที่ให้ทบทวนแผน PDP2018 เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% นั้น เป็นเพียงคำเสนอแนะ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะไม่ทำตามก็ได้ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง ที่กำหนดว่า การดำเนินกิจการด้านสาธารณูปโภคต้องมีความมั่นคง รัฐต้องมีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของกิจการ โดยหากศาลฯพิจารณาเห็นชอบตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะมีผลให้กระทรวงต้องปฏิบัติตาม

แต่หากกระทรวงพลังงานจะดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินทันที ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนคือ กระทรวงพลังงานต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะเป็นผู้สั่งให้ทบทวนนโยบายพลังงานและแผนPDP 2018 ได้  จากนั้นจะต้องส่งเรื่องกลับมาให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีรัฐมนตรีพลังงาน เป็นประธาน เพื่อสั่งการปรับเปลี่ยนแผน PDP2018 แต่กระบวนการดังกล่าวเป็นไปได้ยากที่จะดำเนินการได้ทันใน 120 วัน

สำหรับตามแผน PDP2018  (2561-2580) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพียงประมาณ 36% ดังนั้น ส่วนตัวเห็นว่าในอนาคตที่ไทยจะเดินหน้าไปสู่การเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้า แต่ในส่วนของความมั่นคงไฟฟ้าประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบันแผน PDP 2018 ก็มีการกำหนดประเภทการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงและการผลิตไฟฟ้าสำหรับการแข่งขัน   ดังนั้นหากจะแก้ไขแผนPDP2018ใหม่ ก็ควรปรับเฉพาะในส่วนของความต้องการไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ ที่อยู่ในส่วนของไฟฟ้าด้านความมั่นคงประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2562ต่อเนื่องไป 10 ปี  เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนการถือครองไม่ต่ำกว่า 51% ได้   เพราะหากเดินตาม แผน PDP 2018 ที่กำหนดสัดส่วนไฟฟ้าด้านความมั่นคงให้ทั้ง กฟผ.ดำเนินการบางส่วนและบางส่วนต้องไปแข่งขันกับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่(IPP)ด้วย อาจจะทำให้สัดส่วนไฟฟ้าด้านความมั่นคงของรัฐ ไม่ถึง 51%   อย่างไรก็ตามเห็นว่าในส่วนของโรงไฟฟ้าที่กฟผ.มีสัญญาผูกพันกับเอกชนไปแล้วไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลง

Advertisment