ปตท.สผ.ยอมรับชนะทั้งบงกชและเอราวัณรายได้ขายก๊าซลด แต่มีโอกาสที่จะบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนลงได้ อีก20-25% เตรียมทุ่มลงทุนปีละ1พันล้านดอลล่าร์สหรัฐรักษาระดับผลิตก๊าซให้ต่อเนื่อง
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดแถลงข่าวภายหลังคณะรัฐมนตรีประกาศให้ปตท.สผ.ชนะการประมูลได้สิทธิบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต โดยยืนยันว่าจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้ตามที่ยื่นข้อเสนอในการประมูล และให้ความมั่นใจว่าแผนการพัฒนาและการลงทุนที่ ปตท.สผ.เสนอไป จะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดช่วงการเปลี่ยนผ่านจากสัมปทานปิโตรเลียมปัจจุบันไปเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยจะรักษาระดับการผลิตตามที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอของแหล่งบงกช 700ล้านลบ.ฟุตต่อวันและแหล่งเอราวัณ 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา10ปี
โดยยอมรับว่าราคาขายก๊าซ ที่เสนอขายทั้งสองแหล่งอยู่ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู เทียบราคาขายก๊าซตามสัญญาเดิมในแหล่งเอราวัณอยู่ที่ 165 บาทต่อล้านบีทียู และบงกช 214 บาทต่อล้านบีทียู นั้นจะทำให้รายได้จากการขายก๊าซจะลดลง แต่เมื่อแหล่ง 2 แหล่งผนึกรวมกัน ทำให้บริหารต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น เกิดการลดต้นทุน 20-25% เพราะการลงทุนในแหล่ง 2 แหล่ง นั้นได้ลงทุนแท่นใหญ่ๆ ไว้หมดแล้ว ซึ่งการได้รับสิทธิให้เป็นผู้ดำเนินการทั้งในแหล่งบงกชและเอราวัณ จะยิ่งช่วยให้ ปตท.สผ. สามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้ลดต่ำลงได้มากขึ้นอีก จากการเพิ่มอำนาจต่อรองจากปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น จาก 2 แหล่งรวมกัน เช่น ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง การขนส่ง เป็นต้น
ทั้งนี้ในแหล่งบงกช ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่เดิม จะสามารถที่จะลงทุนเพื่อรักษาระดับการผลิตได้ทันที ส่วนแหล่งเอราวัณนั้น มีแผนการดำเนินงานและการลงทุนที่ชัดเจนในช่วงเปลี่ยนผ่าน มั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้ดำเนินการปัจจุบัน คือเชฟรอนประกอบกับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาครัฐและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยจะเริ่มดำเนินงานทันทีเมื่อมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
สำหรับแผนการดำเนินงานและมูลค่าลงทุนในแหล่งเอราวัณและบงกช จะมีการลงทุนแทนขุดเจาะเพิ่ม การวางแท่นผลิต(แฟลตฟอร์ม)เพิ่ม ในช่วง 5 ปีแรก (ปี2566-2570) ในส่วนของบงกช เงินลงทุนอยู่ที่ 400-450 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเอราวัณ อยู่ที่ 600-650 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นในส่วนที่ ปตท.สผ.จะต้องลงทุนปีละ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ