ปตท.สผ. เข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการ G 1/61(กลุ่มเอราวัณ) และ G 2/61 ( กลุ่มบงกช) ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต โดยในส่วนของ G1/61 ที่ยังผลิตก๊าซได้ต่ำกว่าข้อตกลงกับรัฐ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีจึงจะเพิ่มกำลังการผลิตได้ 800ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญา ในขณะที่ บริษัท เอ็มพี จี (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือมูบาดาลา ที่ถือหุ้น 40% แจ้ง ขอเป็น Silent Partner ที่จะไม่ลงทุนเพิ่มหลังเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจตัดสินใจ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy NewsCenter-ENC ) รายงานว่าบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนสายพลังงานในประเด็นที่ทาง ปตท.สผ.ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการ G 1/61 และโครงการ G 2/61 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) โดย นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ ปตท.สผ. ได้เปิดเผยถึงการดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการ G 1/61 ว่า ถึงแม้จะเป็นการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการ (Operatorship Transfer) แต่บุคลากรส่วนใหญ่ยังคงเป็นบุคลากรชุดเดิมที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งได้เข้ามาร่วมปฏิบัติภารกิจเพื่อเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศร่วมกัน
โดยในอัตราการผลิตของโครงการ G 1/61 ที่ ปตท.สผ. รับช่วงต่อจากผู้รับสัมปทานเดิมผลิตไว้ในวันสิ้นสุดสัมปทานอยู่ที่ 376 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่ต่ำกว่าข้อตกลงที่ทาง ปตท.สผ.อีดี ทำไว้กับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นั้น นายมนตรี ระบุว่า เนื่องมาจากในช่วงที่ผ่านมาแหล่งก๊าซนี้ไม่มีการพัฒนาและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อัตราการผลิตจะลดลงเป็นลำดับต่อไปได้อีก
ประกอบกับการที่ ปตท.สผ. ไม่ได้รับความยินยอมให้เข้าพื้นที่โครงการG 1/61 เพื่อเตรียมการพัฒนาและเจาะหลุมผลิตล่วงหน้าได้ตามแผนงาน แม้ภายหลังจะสามารถเข้าพื้นที่ได้ แต่ถือว่าล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ 2 ปี ปตท.สผ. จึงจำเป็นต้องผลิตตามศักยภาพที่คงเหลือ ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความปลอดภัยของระบบการผลิตก๊าซฯ ทั้งหมด ทำให้อัตราการผลิตในช่วงแรกจะอยู่ที่ประมาณ 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ปตท.สผ. จะดำเนินงานตามแผนเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตของโครงการจี 1/61 มากขึ้นตามลำดับ ให้ได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือนเมษายน 2567 โดยจะเร่งติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) จำนวน 8 แท่น วางท่อใต้ทะเล เจาะหลุมผลิตอีกประมาณ 183 หลุม และจัดหาแท่นเจาะเพิ่มอีก 2 แท่น เพื่อเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมจากแผนพัฒนาเดิมที่วางไว้อีก 52 หลุม รวมทั้ง ตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์การผลิตและระบบต่าง ๆ วางแผนการบำรุงรักษา เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ต่าง ๆ มีความพร้อมและปลอดภัยสำหรับการผลิต
สำหรับแผนรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วงที่โครงการ G 1/61 อยู่ระหว่างการเพิ่มกำลังการผลิตนั้น ปตท.สผ. ได้เตรียมแผนเพื่อเพิ่มการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกชขึ้นอีกประมาณ 125 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากโครงการอาทิตย์เพิ่มเติมอีกประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) เพิ่มขึ้นประมาณ 30-50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมเป็นปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการ G 1/61 มี ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ถือหุ้น 60 % และทาง บริษัท เอ็มพี จี (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือมูบาดาลา ถือหุ้น 40% โดยมีข้อตกลงไว้กับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่จะต้องผลิตก๊าซในปริมาณขั้นต่ำ 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ซึ่งการที่ไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตามสัญญา ก็เป็นเรื่องที่ทาง ปตท.สผ.จะต้องมีการเจรจากับรัฐต่อไปว่าจะต้องมีการชดเชยความเสียหาย หรือจะมีข้อยกเว้นหรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ มีกระแสข่าวด้วยว่าต่อกรณี ที่ ปตท.สผ.อีดี ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียมให้ได้ตามสัญญา ประกอบกับการที่ มูบาดาลา ปิโตรเลียม มีการเปลี่ยนตัว ผู้บริหารระดับสูงคนใหม่ที่มีอำนาจตัดสินใจในการลงทุนที่ประเทศไทย ทำให้สถานะการร่วมลงทุนในโครงการ G1/61 เปลี่ยนไปจากเดิม โดย ทาง เอ็มพี จี ได้แจ้งต่อทาง ปตท.สผ. ถึงสถานะการร่วมทุนที่จะเป็นเพียง Silent Partner ในโครงการ ที่จะไม่มีการใส่เงินลงทุนเพิ่มเติมตามแผนที่ทาง ปตท.สผ. วางเอาไว้