ปตท.จับมือ จีพีเอสซี ตั้ง NUOVO PLUS ลุยธุรกิจแบตเตอรี่เชื่อมโยงทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและอีวี

1994
- Advertisment-

ปตท.จับมือ GPSC ตั้ง NUOVO PLUS ลุยธุรกิจแบตเตอรี่และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Battery Value Chain) และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับโอกาสการเจริญเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีหนังสือแจ้งถึงตลาดหลักทรัพย์​แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2565 ถึงมติคณะกรรมการบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทางอ้อม 51% และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ถือหุ้น 49%) ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่อนุมัติการซื้อทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแบตเตอรี่จากบริษัทในกลุ่ม ปตท. ภายในวงเงินรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 2,900 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1. ทรัพย์สินค่าใช้จ่าย สัญญาและข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน กำลังการผลิตเริ่มต้น 30 เมกะวัตต์ต่อปีที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองจาก GPSC

- Advertisment -

2.หุ้นสามัญ 100% ในบริษัท GPSC-SG Holding Company ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GPSC ซึ่งถือหุ้น 11.1% ในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ต่อปี รวมถึงสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจาก GPSC

3.งานพัฒนาภายใต้โครงการ VISESS ของ ปตท. และบริษัท อัลฟ่า คอม จำกัด (Alpha Com) (บริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้นทั้งหมด)

โดยสัญญาซื้อขายทรัพย์สินระหว่าง NUOVO PLUS และ GPSC ได้ลงนามแล้วเสร็จในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้การเข้าซื้อทรัพย์สินข้างต้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนภายใต้สัญญาซื้อขาย ทรัพย์สินได้สำเร็จเสร็จสิ้น

สำหรับสัญญาระหว่าง NUOVO PLUS ปตท.และ Alpha Com คาดว่าจะลงนาม แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2565โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการโอนทรัพย์สินและหุ้น รวมทั้งสิทธิและ ภาระหน้าที่ภายใต้สัญญาทั้งหมดได้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2565

อย่างไรก็ตามโดยภายหลังการซื้อสินทรัพย์แล้วเสร็จ NUOVO PLUS จะเป็น Battery Investment Vehicle ของ กลุ่ม ปตท. ในการสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Battery Value Chain) และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับโอกาสการเจริญเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ในอนาคต ตามกลยุทธ์ New S-Curve ของกลุ่ม ปตท.

ด้านGPSC ออกข่าววันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2565) ถึงพิธีลงนามสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ ระหว่างบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) เพื่อดำเนินการโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ  การผลิต การศึกษา วิจัย และดำเนินการการพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่ให้กับ NUOVO PLUS โดยคาดว่าการดำเนินการโอนสินทรัพย์จะแล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้ มีมูลค่าทั้งสิ้น 2,428 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน โดยมุ่งเป้าหมายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ 5-10 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี ในปี 2573 

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) กล่าวว่า “การร่วมทุนดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อขยายธุรกิจแบตเตอรี่ของ GPSC และกลุ่ม ปตท. เข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในและนอกประเทศ

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30/30 ของรัฐบาล คือตั้งเป้าผลิตรถ ZEV ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี  2573  ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต Powering Life with Future Energy and Beyond ของกลุ่ม ปตท. โดยจัดตั้งบริษัท NUOVO PLUS ซึ่งเป็นการร่วมทุน ระหว่าง ARUN PLUS และ GPSC เป็นผู้รับผิดชอบทางด้านธุรกิจแบตเตอรี่ โดยความร่วมมือดังกล่าวนี้ เป็นการนำศักยภาพด้านนวัตกรรม การตลาด และห่วงโซ่อุปทานของทั้งกลุ่มมารวมกัน เพื่อเร่งผลักดันการสร้าง EV Value Chain ของ กลุ่ม ปตท. ให้คลอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยการผลิตแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ ในการสร้างนิเวศวิทยาทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศบนฐานของเทคโนโลยี นำพาประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนตํ่า เศรษฐกิจมูลค่าเพิ่ม และการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”

Advertisment