ปตท. คาดไตรมาส 2 ผลประกอบการดีขึ้น ต้นทุนก๊าซฯ ลด หนุนกำไรธุรกิจไฟฟ้า

365
- Advertisment-

บริษัท ปตท. ระบุต้นทุนราคาก๊าซฯปรับลดลง คาดกำไรธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ชี้ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2567 นี้ ดีขึ้นจากไตรมาส 1 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวช่วยหนุนยอดขายน้ำมัน แม้ธุรกิจปิโตรเคมียังได้รับผลกระทบจากกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น

นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผย ในงาน Oppday Q1/2024 PTT วันที่ 27 พ.ค.2567 โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ ปตท. ในช่วงไตรมาส 2 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา แม้ว่าราคาปิโตรเคมีจะถูกปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังการผลิตที่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติยังขึ้นอยู่กับต้นทุนและราคาขาย ซึ่งคาดว่าราคาก๊าซฯ และก๊าซธรรมชาติเหลว ตลาดจร ( Spot LNG) ที่นำเข้าจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมาจนทำให้ต้นทุนก๊าซฯโดยรวมลดลง แต่ ปตท.ยังคงได้รับความเสี่ยงจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ไปใช้ระบบกลไกราคา “Single Pool Gas Price”

“ปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทางการดำเนินงานของ ปตท.ในปีนี้ ในส่วนของ IMF ได้คาดการณ์ว่า GDPโลกจะเติบโตอยู่ที่ 3.2% และ GDPไทย จะเติบโตที่ 2.7% ซึ่งจะส่งผลดีต่อความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซฯ ซึ่ง ปตท.คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้จะอยู่ในกรอบ 79-89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ก๊าซ LNG จะอยู่ที่ 9.7-10.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู และค่าการกลั่น SG GRM จะอยู่ที่ 5.7-6.7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล”

- Advertisment -

ส่วนทิศทางการดำเนินงานของธุรกิจในกลุ่ม ปตท.ในปี2567 ในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ภายใต้การลงทุนของ ปตท.สผ.คาดว่า ปริมาณการขายเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศของโครงการ G1/61(เอราวัณ) และปตท.สผ.ยังคงรักษาต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ อย่างไรก็ตามราคาขายเฉลี่ยคาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยจากปริมาณการขายของ G1/61 ที่เข้ามาเพิ่มเติม

ธุรกิจก๊าซฯ แม้ว่าจะได้ประโยชน์จากต้นทุนราคาSpot LNG ที่ลดลง แต่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาสู่ระบบกลไกราคา “Single Pool Gas Price” จะส่งผลให้กำไรของธุรกิจก๊าซฯ ลดลง อย่างไรก็ตามคาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศจะปรับสูงขึ้น และโรงแยกก๊าซฯ จะมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ตามกำลังการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว อีกทั้งการปิดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซที่น้อยลงในปี 2567 นี้

ด้านธุรกิจน้ำมันคาดว่าปริมาณการขายจะฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น คาดว่ายังได้รับแรงหนุนจากสภาวะเศรษฐกิจและกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 นี้ ส่งผลให้ค่าการกลั่นในปีนี้ ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (สเปรด) ของธุรกิจปิโตรเคมียังลดลง แต่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นี้ ความต้องการใช้จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ 

ส่วนธุรกิจไฟฟ้า คาดว่า ความต้องการใช้จะฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้น และกำไรมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าทั้งจากราคาก๊าซฯ และถ่านหินที่ลดลง

ด้านธุรกิจใหม่ ในส่วนของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) คาดว่า ความต้องการใช้รถ EV ยังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงจากการผลิตรถของฝั่งจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีความได้เปรียบจากต้นทุนและภาษี ได้เข้ามาแข่งขันด้านราคากับผู้เล่นรายอื่นๆ ส่วนธุรกิจ Life science คาดว่า จะรักษาการผลิตและจำหน่ายยา Pharma ทั้งในเอเชียและสหรัฐฯได้ในปริมาณเดิม

สำหรับความคืบหน้าของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่กลุ่มปตท.ลงทุนผ่าน บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) และ บริษัท โกชั่น ไฮเทค จำกัด (Gotion) ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)นั้น ได้เปิดโรงงานไปแล้วเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2566 และปัจจุบันได้ส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงให้กับลูกค้าเรียบร้อยแล้ว

อีกทั้งยังได้มีการจัดตั้ง บริษัท เอไอออเนกซ์ จำกัด (Aionex) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทางอ้อม 100%) กับ บริษัท Kwang Yang Motor Co., Ltd. (KYMCO) และบริษัท KYMCO CAPITAL PRIVATE EQUITY MANAGEMENT Co., Ltd. (KC) (บริษัทย่อย ที่ KYMCO ถือหุ้น) เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายและผลิตรถไฟฟ้า 2 ล้อ รวมถึงให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า 2 ล้อนั้น ธุรกิจดังกล่าวมีแผนจะเริ่มส่งมอบภายในปีนี้ รวมถึงมีแผนที่จะจ้าง OEM ในไทย เพื่อทำการผลิตและประกอบรถภายใน 3-5 ปี และในอนาคตจะพิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานผลิตเองต่อไป

ส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4WD) ที่นอกจากทางกลุ่ม ปตท.จะมีความร่วมมือกับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn)แล้ว ยังมีความร่วมมือผ่าน บริษัท นีโอ โมบิลิตี้ เอเชีย จำกัด (นีโอ โมบิลิตี้ เอเชีย) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง กลุ่มบริษัทอรุณ พลัส และ กลุ่มบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) (MGC-ASIA) เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรในประเทศไทย เช่น บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า บริการประกันภัย บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง สินเชื่อรีไฟแนนซ์และการเงินอย่างครบวงจร บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้า บริการหลังการขาย ศูนย์เช็คระยะ เปลี่ยนอะไหล่ ตลอดจนซ่อมสีและตัวถัง เป็นต้นนั้น ได้เปิดตัวรถแล้ว 2 แบรนด์( แบรนด์ XPENG (เอ็กซ์เผิง) และ ZEEKR (ซีคเกอร์))ในงานมอเตอร์โชว์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเริ่มส่งมอบรถในปีนี้ ส่วนตัวโรงงานอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้า คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568

ขณะที่การจัดตั้ง บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (“FT1”) ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท  นิว เวอ ซอลล์ จำกัด (“NewVersal”) (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทางอ้อม 100%) กับบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) (“HANA”) ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ เพื่อศึกษาโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็คโทรนิคส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ซึ่งเป็น หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2567 นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงทุน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3-4 ปีนี้

Advertisment