ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ของจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 โดยผู้เดินทางเข้าประเทศไม่ต้องกักตัวแต่ต้องแสดงผลตรวจ RT-PCR เป็นลบภายใน 2 วันก่อนออกเดินทาง นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศ และให้ผู้ที่เดินทางมาเปลี่ยนเครื่องบินในจีนไม่ต้องขอ Visa ประกอบกับ วันที่ 27 ธ.ค. 65 นาย Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ลงนามในพระราชกำหนดห้ามจัดส่งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรัสเซีย ให้แก่ชาติที่เข้าร่วมมาตรการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) โดยน้ำมันดิบมีผลวันที่ 1 ก.พ.- 30 มิ.ย. 66 ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปจะประกาศภายหลัง เพื่อตอบโต้สหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มชาติมหาอำนาจ G7 รวมทั้งออสเตรเลีย ที่ใช้มาตรการ Price Cap น้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65
สัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 82 – 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยทิศทางตลาดน้ำมันมีแนวโน้มได้รับการสนับสนุนจากการเปิดประเทศของจีน
ด้านผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นาง Kristalina Georgieva ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 66 มีแนวโน้มเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น โดยเศรษฐกิจของประเทศราว 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) และจีน ชะลอตัวในเวลาเดียวกัน ประกอบกับยอดการติดเชื้อ COVID-19 ในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 66 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง
นอกจากนี้ ผลสำรวจจากนักวิเคราะห์ของ Reuters ในวันที่ 30 ธ.ค. 65 คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในปี 66 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 89.37 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วน NYMEX WTI อยู่ที่ 84.84 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 93.65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ 87.80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเผชิญภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistic: NBS) รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ในเดือน ธ.ค. 65 ลดลง 1 จุด MoM อยู่ที่ 47 จุด ทั้งนี้ ดัชนีที่ต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจหดตัว
- Reuters รายงานว่าคาซัคสถานกำลังเจรจากับบริษัท Transneft ผู้ประกอบการท่อขนส่งน้ำมันรัสเซีย เพื่ออนุญาตให้ใช้ท่อส่งน้ำมัน Northern Druzhba (5 แสนบาร์เรลต่อวัน) ขนส่งน้ำมันดิบ KEBCO ไปยังเยอรมนี ในเดือน ม.ค. 66 ปริมาณ 1.46 แสนบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (EU) คว่ำบาตรน้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเลตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65 แต่ไม่ได้คว่ำบาตรคาซัคสถาน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- OPEC คาดการณ์ว่ารัสเซียจะผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ในปี 66 ลดลง 8.5 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ IEA คาดว่าจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ทั้งนี้ รัสเซียผลิตคอนเดนเสทประมาณ 7 – 8 แสนบาร์เรลต่อวัน
- โรงกลั่นในแถบอ่าวเม็กซิโก อาทิ Motiva Port Arthur (6.26 แสนบาร์เรลต่อวัน) Valero Port Arthur (3.35 แสนบาร์เรลต่อวัน) และ Total Port Arthur (2.38 แสนบาร์เรลต่อวัน) เริ่มกลับมาดำเนินการบางส่วน หลังปิดตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 65 เนื่องจากพายุหิมะพัดถล่ม และเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวจัด ทั้งนี้ คาดว่าจะกลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบภายในกลางเดือน ม.ค. 66