บอร์ด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งพิจารณาหลักเกณฑ์เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ภายหลังคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ปรับหลักเกณฑ์เพื่อเปิดรับซื้อไฟฟ้า คาดเริ่มเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการได้ภายในปี 2567 นี้ ระบุให้สิทธิ์พิจารณาผู้ผ่านเกณฑ์แต่ไม่ได้รับเลือกในเฟสแรกก่อน สำหรับไฟฟ้าพลังงานลม 600 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์ม 1,580 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือเปิดรับซื้อทั่วไป 1,488.5 เมกะวัตต์ ทั้งลม, โซลาร์ฟาร์ม, ก๊าซชีวภาพ และขยะอุตสาหกรรม
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติปรับหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ขณะนี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมพิจารณารายละเอียดว่าจะต้องแก้ไขกฎระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวหรือไม่ เบื้องต้นคาดว่า กกพ. จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 ได้ ภายในปี 2567 นี้
สำหรับไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 หรือ “โครงการผลิตไฟฟ้ากลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in tariff (FiT) สำหรับปี พ.ศ. 2565-2573” จะเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ, ลม, แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน หรือ โซล่าร์ฟาร์ม และไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม
ทั้งนี้เบื้องต้น กบง. กำหนดเปิดโอกาสให้ผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์เข้าร่วมโครงการไฟฟ้าสีเขียวที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในเฟสแรก จะได้สิทธิ์รับการพิจารณาก่อน โดยให้โควตาไว้สำหรับการเสนอขายไฟฟ้าพลังงานลม จำนวนรวม 600 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 1,580 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือให้เปิดรับซื้อเป็นการทั่วไป
อย่างไรก็ตามหาก กกพ.พิจารณาผู้เสนอขายไฟฟ้าที่ตกหล่นมาจากเฟสแรก แล้วพบว่ายังไม่ผ่านการพิจารณาอีก ก็ยังสามารถใช้สิทธิ์เสนอขายไฟฟ้าดังกล่าวในการเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไปได้อีกครั้ง แต่ทั้งนี้คาดว่าผู้ที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการในเฟสแรกดังกล่าว จะมีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายมากกว่าจำนวนที่ กบง. เปิดโควตาไว้ ดังนั้นคาดว่าจะมีผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการในส่วนที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าเป็นการทั่วไปเป็นจำนวนมาก
สำหรับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อปี 2566 กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในเฟสแรก 1,580 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดรับซื้อทั่วไป 1,052 เมกะวัตต์), ไฟฟ้าพลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในเฟสแรก 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดรับซื้อทั่วไป 400 เมกะวัตต์), ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์
ส่วนราคารับซื้อไฟฟ้าตามมติ กพช. เมื่อปี 2565 กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี, ไฟฟ้าพลังงานลม 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี, ไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 2.0724 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี และไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม รับซื้อ 6.80 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี
นอกจากนี้ตามมติ กบง. ยังให้ กกพ. ไปพิจารณาเลื่อนวันเริ่มต้นรับซื้อไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับไฟฟ้าพลังงานลมที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลาง 22 โครงการ โดย กกพ. จะนำเข้าหารือในบอร์ด กกพ. เพื่อพิจารณาคำขอเลื่อน SCOD ของผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมแต่ละรายตามกรอบที่ กบง. ให้ไว้
สำหรับไฟฟ้าสีเขียวเฟสแรก ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าไปแล้วเมื่อเดือน เม.ย. 2566 จำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มรวมกับระบบกักเก็บพลังงาน 994.06 เมกะวัตต์ , ไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม 2,368 เมกะวัตต์ ,ไฟฟ้าจาก๊าซชีวภาพ ไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์ และไฟฟ้าพลังงานลม 1,490.20 เมกะวัตต์ จาก 22 โครงการ ซึ่งในส่วนของไฟฟ้าพลังงานลม มีผู้ขอยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการพิจารณาทั้ง 22 โครงการ ยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ และต้องรอผลพิจารณาตัดสินของศาลปกครองกลางให้เสร็จสิ้นก่อน