น้ำมันแพงแต่ยอดใช้พุ่ง มูลค่านำเข้า ม.ค.-ก.พ.65 เพิ่มเป็น 8.9 หมื่นล้านต่อเดือน

375
N1022
- Advertisment-

กรมธุรกิจพลังงานเผยตัวเลขนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนม.ค.-ก.พ.65 เพิ่ม 12.5 % แต่ในแง่มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 91% หรือกว่า 42,797 ล้านบาท จาก 47,005 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 89,802 ล้านบาทต่อเดือน สะท้อนถึงราคาที่สูงแต่ผู้ใช้ยังไม่รู้สึกว่าต้องประหยัด เพราะรัฐยังคงมาตรการตรึงราคาดีเซลหน้าปั๊มเอาไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนจริง รวมทั้งการนำเข้าดีเซลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าทดแทนLNG มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center- ENC​ )​รายงานว่าข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงานระบุถึงสถานการณ์​ภาพรวม การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,029,709 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 12.5 %) แต่ในแง่มูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 47,005 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 89,802 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นกว่า 42,797 ล้านบาท หรือ 91 %

โดยเมื่อแยกเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 950,269 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น 6.7 % ) สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น ส่วนมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 83,369 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 82.8 %) หรือคิดเป็นเงิน 37,771 ล้านบาท

- Advertisment -

ส่วนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 79,440 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นถึง 222.8% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิดน้ำมัน ยกเว้นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 6,433 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้น 5,026 ล้านบาท หรือเพิ่มถึง 357.2%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นมากทั้งในส่วนของน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันก็ยังคงเพิ่มขึ้น

โดยการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 77.00 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 18.1%) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63.79 ล้านลิตร/วัน สะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภคที่ยังไม่ประหยัดเพราะรัฐยังคงมีนโยบายตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นราคาที่ไม่สะท้อนต้นทุนจริง

ส่วนการจำหน่ายน้ำมันดีเซลเพื่อการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 7.09 ล้านลิตร/วัน

ในขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.12 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย (เพิ่มขึ้น 1.7 % ) สำหรับปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29.51 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น 2.1% ) การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.61 ล้านลิตร/วัน และ 0.96 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่ การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 7.01 ล้านลิตร/วัน และ 5.93 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพิจารณาปริมาณการใช้กลุ่มเบนซินเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 พบว่า การใช้ลดลงร้อยละ 2.9 ซึ่งเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งมาจากนโยบายที่รัฐปล่อยให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินอยู่ในระดับสูงกว่าต้นทุนที่เป็นจริง

Advertisment