การที่ ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. และเป็นคู่สัญญากับรัฐ ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต ในแหล่งเอราวัณ (G1/61) ยังไม่สามารถที่จะเข้าไปติดตั้งแท่นผลิตเพิ่มเติมได้ตามแผน เพราะเจ้าของสัมปทานในปัจจุบันคือ กลุ่มเชฟรอน ยังไม่อนุญาต เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติช่วงรอยต่อระหว่างเจ้าเก่ากับเจ้าใหม่หลังวันที่ 23 เม.ย.2565 นั้นมีแนวโน้มสูงมาก ว่าจะไม่ต่อเนื่อง
การผลิตที่ไม่ต่อเนื่องนั้น คนในวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ประเมินกันมาว่า จะทำให้ก๊าซที่อยู่ก้นหลุมปริมาณรวมๆ กันประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งต้องอาศัยอุปกรณ์เพิ่มแรงดันช่วยดันขึ้นมาใช้นั้น จะฝ่อหายไปทั้งหมด และไม่สามารถที่จะนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับแหล่ง Rokan ของอินโดนีเซีย
ความสำคัญของก๊าซ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็เปรียบเหมือนกระเป๋าเงินของรัฐ ที่ไม่ต้องไปหยิบยืม กู้ใครเขามา ซึ่งถ้ารักษาไว้ได้ก็จะเป็นทุนเสบียงให้รัฐไปได้อีกหลายปี ยิ่งถูกนำเข้าโรงแยกก๊าซไปสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพราะเป็นก๊าซคุณภาพดีที่เรียกว่า Wet Gas ก็จะยิ่งสร้างประโยชน์ให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศแบบทวีคูณ คิดประเมินดูแล้วมากกว่าแสนล้านบาท
แต่ถ้าปล่อยให้หายไปเลยจากหลุมเหมือนเอาเข็มจิ้มลูกโป่งอัดก๊าซจนแตก เพราะขาดช่วงการผลิตในวันสิ้นสัญญาสัมปทาน นอกจากรัฐจะไม่ได้ประโยชน์จากค่าภาคหลวง การแบ่งปันผลประโยชน์ตามระบบพีเอสซี และการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นผลดีต่อการลงทุน การจ้างงาน และการมีเม็ดเงินไปหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจของประเทศ แล้ว ยังต้องเสียเงินตราต่างประเทศไปนำเข้า LNG จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาเฉลี่ยแพงกว่าก๊าซจากแหล่งเอราวัณ เข้ามาใช้ทดแทน เรียกว่าเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง และคนที่จะต้องมารับภาระก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้านั่นเอง
ลองคิดคำนวนดูว่า ก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่ ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) เสนอราคาขายตอนแข่งประมูล นั้นอยู่ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู แต่ LNG นำเข้านั้นราคาผันผวนมาก เคยต่ำสุดที่ประมาณ 50-60 บาทต่อล้านบีทียู ไปจนถึง 500 กว่าบาทต่อล้านบีทียู หากพึ่งพาการใช้ LNG มากๆ ประชาชนจะรับภาระจ่ายค่าไฟแพงไหวหรือ
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จึงไม่สามารถที่จะเพิกเฉยต่อปัญหาแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซไม่ต่อเนื่องในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่จะเกิดในคืนวันที่ 23 เม.ย. 2565 ได้
เพราะการโดดเดี่ยวกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้เผชิญหน้ากับยักษ์ใหญ่เชฟรอน ของสหรัฐอเมริกา ตามลำพัง บนเดิมพันผลประโยชน์แสนล้านของประเทศ ไม่ใช่แนวทางจัดการปัญหาที่ดีที่สุด แต่นายกรัฐมนตรีจะต้องลงมาช่วยเสริมแรง โดยมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีพลังงานเป็นหัวหน้าทีมในการตั้งโต๊ะเจรจากับผู้บริหารระดับสูงของ เชฟรอน สหรัฐอเมริกา เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่ายให้ได้ข้อยุติภายในกลางปีนี้ ก่อนที่ความเสียหายจะขยายวงกว้าง
ทีมข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงาน
ข้อมูลประกอบบทความ
–แหล่งปิโตรเลียม ในกลุ่มเอราวัณ นั้น ประกอบด้วยแหล่ง ต่างๆ ใน block 10, 10A, 11, 11A และ 12 อาทิ เอราวัณ กะพง ปลาทอง สตูล ปะการัง ปลาแดง ปลาหมึก ตราด ยะลา จักรวาล สุราษฎร์ ดารา ฟูนัน โดยจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565 หรืออีกเพียงปีเศษเท่านั้น
–แหล่งเอราวัณ เริ่มผลิตก๊าซครั้งแรกภายใต้สัญญาสัมปทานในปี 2524 ถือเป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ในอ่าวไทย ที่ผลิตก๊าซตามสัญญาได้ประมาณ 1,280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ
–หลังจากที่ กลุ่ม เชฟรอนแพ้ประมูลในการเข้าบริหารจัดการแหล่งเอราวัณ ( G1/61) หลังสิ้นสุดอายุสัมปทาน ก็ลดการลงทุนเจาะหลุมผลิตใหม่ๆ เพื่อรักษาระดับการผลิตเอาไว้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณลดลงเป็นลำดับเหลือ ประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันในปัจจุบัน และวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคาดว่ากำลังการผลิตจะลดลงเหลือ ประมาณ 800 ล้าน ล.บ.ฟุตต่อวัน
–การที่ PTTEP ED ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตในการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซได้ตามแผน จะทำให้การผลิตก๊าซหลังวันที่ 23 เม.ย.65 ลดเหลือเพียงประมาณ 500 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ทำไว้กับรัฐ ที่จะต้องผลิตก๊าซให้ได้ไม่น้อยกว่า 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มสัญญา ซึ่งตามสัญญาได้มีการกำหนดบทปรับตามกฏหมายกับผู้รับสัญญาคือ PTTEP ED
- ก๊าซธรรมชาติ 140 ล้าน ลบ. ฟุตต่อวัน เทียบเท่ากับ LNG 1 ล้านตันต่อปี ดังนั้นก๊าซที่คาดว่าจะหายไปจากระบบ 300 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน จะเทียบเท่ากับการนำเข้า LNG เพิ่มเข้ามาอีก 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งการนำเข้า LNG เป็นการเสียเงินตราต่างประเทศออกไปทางเดียว โดยที่รัฐไม่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เหมือนกรณีการนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นใช้ในประเทศ
– ข่าวจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 มี.ค.64 ระบุ พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า การเจรจาข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 เพื่อเข้าดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิต ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเตรียมการผลิต ผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณไม่ยินยอมให้เข้าดำเนินการ
–
–