นายกรัฐมนตรี​ ให้ภาคธุรกิจใช้ ปตท.เป็นต้นแบบ ตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)

485
- Advertisment-

กลุ่มบริษัท ปตท. ระดมกำลังช่วยต้านไวรัสโควิด-19 ตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” โดยนับเป็นครั้งแรกของความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนที่ดูแลประชาชนแบบครบวงจร งานนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการใช้งานเตียงสนามวันแรก พร้อมระบุให้ภาคธุรกิจ​อื่นๆ ใช้ ปตท.เป็นต้นแบบ ด้าน ปตท.เผยจัดจุดตรวจโควิดที่อาคาร EnCo Terminal หรือ Enter พร้อมเตียงกว่า 520 เตียงรองรับผู้ป่วยทุกระดับ เริ่มให้บริการวันนี้ ระบุตั้งแต่ปี 2563 กลุ่ม ปตท.ร่วมช่วยเหลือหลายด้านรวมเป็นเงินกว่า 1,700 ล้านบาท

วันที่ 11 ส.ค. 2564 กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ร่วมแก้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยเปิด“หน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” อย่างเป็นทางการ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ,ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท. ,นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารกลุ่ม ปตท.เข้าร่วมงานผ่านระบบออนไลน์ ณ ห้องภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ดีขึ้น เนื่องจากมียอดผู้ที่รักษาหายมากกว่าผู้ติดเชื้อรายวัน แต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาให้ได้อย่างเร็วที่สุด ทั้งการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เหลืองและแดง พร้อมกับการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน รวมทั้งกำหนดแนวทางแก้ปัญหาแบบมีแผนงานมาโดยตลอด ซึ่งวันนี้รัฐบาลพยายามทำวิกฤติให้เป็นโอกาสทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ที่ต้องเดินไปด้วยกันให้ได้

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามการที่กลุ่ม ปตท. เข้ามาร่วมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามครั้งนี้ เป็นการแสดงความร่วมใจจากภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับภาคธุรกิจอื่นๆใช้เป็นแบบอย่าง และพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้คาดว่าไวรัสโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้นต้องปรับตัวและรวมพลังกันเพื่อให้ประเทศอยู่รอดทั้งภาคเศรษฐกิจ ประชาชนและการศึกษาต้องเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทยยุคใหม่ต่อไป

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท. กล่าวว่า ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ต้องการช่วยเหลือประชาชน และแบ่งเบาภาระของภาครัฐ จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และพันธมิตรทางการแพทย์ ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกฯ และโรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้ง “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” ภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ขึ้น ถือเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบครบวงจร หวังที่จะมีส่วนช่วยลดการเสียชีวิต บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า หน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) แห่งนี้มุ่งเน้น “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” ประกอบด้วย 4 จุดหลัก ได้แก่ จุดที่ 1 หน่วยคัดกรอง โครงการลมหายใจเดียวกัน ณ อาคาร EnCo Terminal หรือ Enter ของบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด ในกลุ่ม ปตท. เพื่อใช้เป็นจุดคัดกรองสำหรับกลุ่มเสี่ยง โดยร่วมมือกับ สปคม. มีการวางระบบดิจิทัลเพื่อลงทะเบียน และตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen test kit และหากพบว่ามีการเสี่ยงติดเชื้อ จะนำส่งตรวจ RT-PCR ต่อไป สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ระดับสีเขียว ที่สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นที่บ้านหรือในชุมชน (Home or Community Isolation) จะได้รับมอบ “กล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน” ที่ ปตท. จัดทำขึ้น ประกอบไปด้วยชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาฟาวิพิราเวียร์ ฯลฯ และมีระบบติดตามอาการด้วย

ขณะที่จุดที่ 2 , 3 และ 4 จัดเตรียมเป็น โรงพยาบาลสนามครบวงจร โครงการลมหายใจเดียวกัน เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทุกระดับความรุนแรง ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวท อีกทั้งโรงพยาบาลสนามครบวงจรแห่งนี้ ยังเป็นการระดมกำลังของกลุ่ม ปตท. ทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯอีกด้วย

โดย โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยระดับสีเขียว เปิดให้บริการในรูปแบบของ Hospitel กระจายไปในหลายโรงแรมในกรุงเทพฯ จำนวนกว่า 1,000 เตียง รองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากหน่วยคัดกรองอย่างเป็นระบบ ส่วนโรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง รองรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับหนักขึ้น เปิดให้บริการ ณ โรงแรมเดอะบาซาร์ กรุงเทพฯ จำนวน 300 เตียง และโรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยระดับ สีแดง จัดสร้างโรงพยาบาลสนามระดับวิกฤต ICU บนพื้นที่ 4 ไร่ โดยปรับพื้นที่โล่งของโรงพยาบาล ปิยะเวทเป็นสถานที่ก่อตั้ง รองรับผู้ป่วยจำนวน 120 เตียง

นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่ม ปตท. ยังได้คิดค้นนวัตกรรม ผลิตอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ มาสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนหุ่นยนต์ “CARA” ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการส่งอาหาร อุปกรณ์แก่ผู้ป่วย และ “Xterlizer UV Robot” หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติด้วยแสง UV

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สนับสนุนผลิตภัณฑ์นวัตกรรม อาทิ หมวกอัดอากาศความดันบวก PAPR ชุดป้องกันการติดเชื้อ PE Gown ชุดตรวจคัดกรอง Rapid Test , บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) คิดค้นนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วย อาทิ เตียงสนามพลาสติกที่สามารถรับน้ำหนักได้มาก ชุดป้องกันการติดเชื้อ อุปกรณ์พลาสติก อาทิ ช้อนส้อม ถังขยะอันตราย กล่องอเนกประสงค์

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการเดินทางขนส่งดูแลผู้ป่วยและบุคลากร , บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนชุดตรวจ Antigen Rapid Test ซึ่งเป็นนวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือของบริษัทกับ สวทช. ,บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยเครื่องดื่มจากร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน น้ำดื่มจิฟฟี่ และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ รวมถึงบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด จัดพื้นที่อาคาร Enter เป็นจุดคัดกรองโควิด-19 บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด จัดการระบบดิจิทัลสำหรับการลงทะเบียน และบริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด ยังเป็นผู้บริหารระบบการตรวจคัดกรองโควิด-19 อีกด้วย

สำหรับ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” เป็นโครงการที่ ปตท.จัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ของประเทศ มาอย่างต่อเนื่อง ร่วมเป็นพลังต่อลมหายใจของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป ทั้งนี้นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมเป็นงบประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท

โดยที่ผ่านมาได้ส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง กว่า 400 เครื่อง สนับสนุนออกซิเจนเหลว อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นแก่หน่วยงานรัฐ โรงพยาบาลในพื้นที่วิกฤตและมีความจำเป็นเร่งด่วน กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกใน 4 พื้นที่เปราะบางและมีความเสี่ยงสูง รวมถึงเดินหน้าโครงการ Restart Thailand ต่อเนื่อง ทำให้มีอัตราการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 25,000 อัตรา

Advertisment