นักวิชาการ-เอกชน แนะรัฐปรับพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าใน PDP ใหม่ สร้างสมดุลราคาและความมั่นคง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

140
Screenshot
- Advertisment-

นักวิชาการ-เอกชน เปิดเวทีเสวนา “ความเงียบของราคาค่าไฟแพง กับการลงทุนที่ประชาชนไม่มีเสียง” ชี้อดีตที่ผิดพลาดจากการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ ควรแก้ไขผ่านแผน PDP ฉบับใหม่ ที่เน้นสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ปรับโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นธรรม ด้าน TDRI แนะปรับพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าใหม่ สร้างสมดุลพลังงานทั้งราคาและความมั่นคง พร้อมเร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด ขณะที่สถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย ชี้ควรเร่งเจรจาการแก้ปัญหาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนไทย-กัมพูชา (TC-OCA) เพื่อความมั่นคงก๊าซฯ -ไฟฟ้าในอนาคต

วันที่ 28 เม.ย. 2568 บริษัท ดาต้า แฮทช จำกัด ได้จัดเสวนา “ความเงียบของราคาค่าไฟแพง กับการลงทุนที่ประชาชนไม่มีเสียง” โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายคนร่วมเสวนา อาทิ นาย คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย, นายดอน ทยาทาน อุปนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และนายประเสริฐศักดิ์​ เชิงชวโน  ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาชิกวุฒิสภา และอดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น

โดยนายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย ได้บรรยายในหัวข้อ “บทบาทของก๊าซฯ ในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ ‘พอดี’ และ ‘ดีพอ’ ที่จะไม่กระทบค่าไฟ” ว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของไทย หรือ PDP ควรปรับเปลี่ยนจากตลาดที่ควบคุม (Regulated) ไปสู่ ตลาดที่มีการแข่งขัน (Competitive markets) ซึ่งจะเห็นว่าผลการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอดีตที่ผิดพลาด ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป และบางช่วงเวลามีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงกว่า 50% ส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น รวมถึง ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากขึ้น ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น กระทบต่อการตัดสินใจมาลงทุนในประเทศของนักลงทุน และสูญเสียค่าภาคหลวง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการพยายามหาแหล่งก๊าซฯ ใหม่ ในประเทศ รวมถึงควรส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนในทะเล ไทย-กัมพูชา(OCA)

- Advertisment -
Screenshot

ทั้งนี้สิ่งที่ภาครัฐไม่ควรทำ เช่น อย่าอุดหนุนราคาพลังงานแบบเหวี่ยงแห ,อย่าฝืนกลไกตลาดเสรีและปิดประเทศ ,อย่าอ้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานเกินควรจนกระทบความมั่นคง ราคา และธรรมาภิบาล, อย่าสร้างกระแสเกลียดพลังงาน โดยอ้างระแวงเพื่อนบ้าน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิมนุษยชน หรือสินค้าแพง หรือตลาดทุนนิยม

โดยสิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการ เช่น ควรตั้งงบประมาณมาช่วยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งราคาน้ำมันและไฟฟ้า,ปล่อยให้ราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม (LPG) ลอยตัวไม่ฝืนกลไกตลาด เพราะจะเสี่ยงขาดแคลน, เร่งเจรจาแก้ปัญหา TC-OCA เพื่อเปิดพื้นที่สำรวจและเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซฯ แทนที่จะปล่อยให้นำเข้า LNG มากขึ้นเรื่อยๆ, ปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและการซื้อไฟฟ้าให้มีการแข่งขันมากขึ้น ไม่ต่อสัญญาโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) หรือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่จะหมดอายุ แต่ให้มาแข่งขันเสนอราคาค่าไฟฟ้าในตลาดเสรี และการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ แต่ควรมีกติกาที่โปร่งใส การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศควรใช้ระบบประมูลค่าไฟฟ้า ไม่ใช่เจรจารายโครงการ

นางสาว อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์  นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวเสวนาในหัวข้อ “ความเงียบใน PDP ทำค่าไฟแพง ส่งเสียงอย่างไรให้ระบบไฟฟ้าไทยแฟร์” ว่า TDRI ได้เสนอ 3 ข้อ ในการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เพื่อสร้างสมดุลพลังงานให้เกิดขึ้นทันต่อความต้องการของประเทศ คือ 1.ปรับการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ เพื่อสนับสนุนสมดุลพลังงานด้านราคาและความมั่นคง โดยหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่ รวมทั้งหยุดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่ภาครัฐรับผิดชอบต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งหมด และเปลี่ยนลำดับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า

2.ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีด้านพลังงานให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนสมดุลพลังงานด้านความยั่งยืน โดยควรเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ และเร่งลงทุนพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน, ระบบไมโครกริดและการลดใช้พลังงานแบบสมัครใจ (Demand Response)

Screenshot

3. ปรับระบบการผลิตและซื้อขายไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนสมดุลพลังงานด้านความยั่งยืนในการเร่งพัฒนาพลังงานสะอาดให้ทันใช้ โดยตั้งเป้าการสนับสนุนผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ด้วยการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งการอนุมัติเพิ่มโควตาและปรับราคารับซื้อในระบบ Net Billing ให้สูงขึ้น พร้อมทั้งตั้งเป้าการเร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด โดยการเปิดให้สิทธิเอกชนเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าด้วยค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน  ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน สมาชิกวุฒิสภา อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “PDP 2024: ความเงียบสู่ราคาค่าไฟแพง การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการลงทุนที่ประชาชนไม่มีเสียง” โดยระบุว่าแผน PDP ไม่ใช่ตัวการที่ทำให้ค่าไฟแพงหรือถูก แต่อยู่ที่วิธีจัดการ ซึ่งผลพวงสุดท้ายจะสะท้อนไปยังปลายทางคือ ค่าไฟฟ้า  ฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านกระบวนการผลิตไฟฟ้า หรือการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในการเลือกเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่จะป้อนเข้าสู่การผลิตไฟฟ้า จะต้องบริหารจัดการให้ดี รวมถึงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรม ควรจะต้องปรับให้สอดรับกับรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ควรยกเลิกอัตราค่าไฟฟ้าราคาเดียวทั่วประเทศ (Uniform Tariff) ในเขตนิคมอุตสาหกรรม

ดังนั้นจำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าให้ชัดเจน และเปลี่ยนสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตถูกลงได้ โดยที่หน่วยงานภาครัฐต้องยึดการกำหนดนโยบายในเรื่องต่างๆ ให้ชัดเจน

น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ Climate Finance Network Thailand กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ควรส่งต่อสู่ประชาชนโดยอัตโนมัติ ประชาชนไม่ควรต้องมารับความเสี่ยงต่างๆ โดยปกติถ้าซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ราคาควรถูกลง แต่ค่าไฟฟ้ากลับสวนทางสูงขึ้น ซึ่งจากการพยากรณ์ปริมาณการผลิตไฟฟ้าผิดพลาด นอกจากจะส่งผลสู่ความไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อนาคตโรงไฟฟ้าจะมีขนาดเล็กลงและผลิตไฟฟ้าบนหลังคามากขึ้น แผน PDP ที่ดีควรรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน พร้อมมุ่งเป้าหมายการลดโลกร้อน ซึ่งถ้าไม่มีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ค่าไฟฟ้าในอนาคตจะแพงกว่าเดิม ดังนั้นการรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานจะมีผลต่อราคาและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

นาย ดอน ทยาทาน อุปนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นเรื่องของทุกคน ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคต โดยต้องเน้นเรื่อง ความปลอดภัย ความมั่นคงด้านพลังงาน ราคาที่เป็นธรรม และพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Advertisment