บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR นำคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทยเกือบ 30 คน เยี่ยมชมสถานีบริการน้ำมัน PTTOR และธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ใน สปป. ลาว ระหว่าง 25-27 ก.ค. 2567 โดยมีนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วย นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ และ นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธุรกิจต่างประเทศ ของ OR พร้อมด้วย นายพีรเวท ณ ระนอง Managing Director บริษัท พีทีที (ลาว) จำกัด (PTTLAO) เป็นผู้นำในการเยี่ยมชมธุรกิจ OR สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ OR ได้จัดให้คณะสื่อมวลชนนั่ง “รถไฟฟ้าความเร็วสูงลาว-จีน” จากสถานีรถไฟเวียงจันทร์ สู่หลวงพระบาง โดยรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ที่สร้างเสร็จในปี 2564 ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นช่องทางเชื่อมโยงเศรษฐกิจที่สำคัญระหว่างลาว-จีน และในอนาคตจะเชื่อมโยงต่อกับอีกหลายประเทศในอาเซียน จะส่งผลให้การค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเติบโตมากขึ้น และปัจจัยดังกล่าวกลายเป็นผลดีต่อธุรกิจของบริษัท OR ที่เข้ามาปักหมุดธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ใน สปป.ลาวไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งในอนาคตธุรกิจ OR ทั้งการจำหน่ายน้ำมันและเครื่องดื่มคาเฟ่ อเมซอน มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวด้านการเดินทาง การท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในอาเซียน
ในสิ้นปี 2567 นี้ OR จะมีสถานีบริการน้ำมันทั้งสิ้น 63 สถานี และจะมีถึง 70 สถานีในปี 2573 ส่วนสาขาคาเฟ่ อเมซอน ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 94 สาขา ซึ่งจะครบ 110 สาขาในปลายปี 2567 นี้ และตั้งเป้าให้ถึง 150 สาขาในปี 2573
สำหรับ “คาเฟ่ อเมซอน” ได้ถูกนำมาเป็นธุรกิจที่ใช้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง OR กับนักธุรกิจท้องถิ่น ที่สามารถเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน เพราะนักธุรกิจท้องถิ่นสามารถเข้าใจผู้บริโภคและการติดต่อเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการใน สปป.ลาวได้ดี เมื่อจับมือกันสร้างสาขาคาเฟ่ อเมซอน ย่อมส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจซึ่งกันและกันได้ อีกทั้ง คาเฟ่ อเมซอน ยังสามารถผสมผสานวัฒนธรรมให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองผ่านเครื่องดื่มที่จัดจำหน่ายได้อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากเมนูเครื่องดื่มที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน Concept Store สาขา โรงกายะสิน ตั้งอยู่ในพื้นที่ “โฮงกายยะสิน” มรดกสหภาพโซเวียต ปี 2533 ที่บ้านสะหว่าง เมืองจันทะบูลี นครหลวงเวียงจันทน์ ถือเป็นร้าน Concept Store ร้าน Cafe Amazon Concept store ที่แรกในต่างประเทศ และ แห่งแรกในประเทศ สปป.ลาว เป็น Landmark แห่งใหม่ของนครหลวงเวียงจันทน์ โดยเมนูที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ได้แก่
1. ตำมักฮุง (Tum Mak Hoong) เครื่องดื่มแนวผสมผสาน หยิบยกวัฒนธรรมท้องถิ่นลาวมาเป็นจุดเด่น โดยตั้งต้นมาจากส้มตำลาว ด้วยการผสานกับชาขาว 400 ปี (สินค้าหลักของบ้านกอแมน แขวงพงสาลี ภาคเหนือสุดของลาว ซึ่งเป็นของ Local ของขึ้นชื่อของประเทศลาว) ผสมไซรัปแตงกวา รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ให้เหมือนเป็นตำแตงของประลาว ตกแต่งด้านบนด้วย แตงกวา, พริก และ มะเขือเทศเชื่อม เพื่อเพิ่มสีสันให้สวยงามน่าลิ้มลอง
2. Roselle Beer Laos: เบียร์ลาวเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อสำหรับประเทศลาว จับคู่กับไซรัปกระเจี๊ยบ เมื่อนำมา shake ทานกับเบียร์ลาว ให้ความรู้สึกว่าเบียร์ทานง่ายขึ้น และเมนูนี้ชาวลาวจะชอบเป็นที่หนึ่ง
3. Kayasin Frappe: เป็นการนำนมมะพร้าวปั่น และกาแฟช็อตรองไว้ที่ก้นแก้ว เมื่อใส่ตัวนมมะพร้าวปั่นลงไป ตัวน้ำกาแฟก็จะขึ้นมาเป็นริ้วๆ เวลาทานสามารถรับรู้ถึงตัวน้ำนมมะพร้าวปั่นด้วยส่วนนึง หรือถ้าอยากทานกาแฟก็สามารถที่จะจิ้มในบางส่วนได้ ในส่วนของท็อปปิ้งตกแต่งด้วยผงทองคำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมด้านวัดวาอารามสีทองเหลืองอร่าม
ส่วนคาเฟ่ อเมซอน สาขาหลวงพระบาง นอกจากเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอาคารภายนอกที่อนุรักษ์ไว้ซึ่งความดั้งเดิมของเมืองทั้งวัตถุ สถานที่ รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีของลาวแล้ว ภายในร้านนั้นยังได้มีการตกแต่งที่สวยงาม พิถีพิถัน โดยผสานแรงบันดาลใจจากเอกลักษณ์วัตนธรรมประเพณีท้องถิ่น และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในหลวงพระบาง เข้ากับความเป็นแบรนด์ Café Amazon ได้อย่างลงตัว เมนูใหม่ห้ามพลาด ได้แก่ Iced Strawberry Butterfly Pea Latte รสชาติหอมหวานของสตรอเบอร์รี น้ำผึ้งแท้และดอกอัญชัน ผสานกับกาแฟรสชาติเข้มข้นสูตรเฉพาะของ Café Amazonได้อย่างอร่อยลงตัว และ Strawberry Butterfly Pea Frappe รสชาติหอมหวานสดชื่นของสตรอเบอร์รี น้ำผึ้งแท้และดอกอัญชัน ปั่นเข้ากับนมสดแท้คุณภาพ พร้อมอร่อยเคี้ยวเพลินกับท็อปปิ้งบุกเน้นๆ
นายพีรเวท ณ ระนอง Managing Director บริษัท พีทีที (ลาว) จำกัด (PTTLAO) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันร้านคาเฟ่ อเมซอน ใน สปป.ลาว มีทั้งสิ้น 94 สาขา มียอดขายเฉลี่ยวันละ 200 แก้ว โดยกลยุทธ์การตั้งสาขาคาเฟ่ อเมซอน ใน สปป.ลาว จะเน้นพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้คาเฟ่ อเมซอน เป็นศูนย์กลางชุมชนที่จะใช้พบปะ นั่งคุย และในอนาคตจะมีห้องประชุมไว้บริการเสริมสำหรับผู้มาใช้บริการด้วย และ OR จะพยายามยกระดับมาตรฐานร้านคาเฟ่ อเมซอนและสถานีบริการน้ำมันให้เทียบเท่ากับไทย โดยเน้นหัวใจสำคัญ 4 Sure ได้แก่ 1.สะดวก สบาย Sure 2.คุณภาพได้มาตรฐาน Sure 3. เติมน้ำมันเต็มลิตร Sure และ 4. ความปลอดภัย Sure
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจ OR ว่า ธุรกิจ Global ปัจจุบัน OR มีสัดส่วนรายได้หลักๆ มาจาก กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และ สปป.ลาว ซึ่งกัมพูชาถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตมากที่สุด ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจำนวนประชากรที่มาก ขณะที่ธุรกิจใน สปป.ลาว จะเป็นลักษณะประคองตัว เนื่องจากเศรษฐกิจ สปป.ลาวยังเผชิญผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินกีบที่ผันผวน แต่มองว่าธุรกิจพลังงานในอนาคตยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก
ปัจจุบัน OR ได้เตรียมแผนการลงทุนอุทยานอเมซอน (Amazon Park) บนพื้นที่ 600 ไร่ ในจังหวัดลำปาง ซึ่งจะนำทีมคณะกรรรมการ บริษัทฯ (บอร์ด) ลงพื้นที่จริงในเดือน ก.ย. 2567 นี้ ก่อนเสนอขออนุมัติการลงทุนในเดือน ต.ค. 2567 ซึ่งหากผ่านการอนุมัติจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเฟสแรกในปีนี้บนพื้นที่ 350 ไร่ก่อน จากนั้นจะดำเนินการเฟสที่เหลืออีก 250 ไร่ คาดว่าภายใน 2 ปี จะสามารถเปิดให้บริการได้
สำหรับ Amazon Park จะเป็นการยกระดับคาเฟ่ อเมซอน สู่แบรนด์ระดับโลก โดยจะมีทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม(R&D) การพัฒนาต้นกล้ากาแฟเอง จากปัจจุบันที่ซื้อจากหน่วยงานราชการ และมีกลางน้ำที่เข้มแข็งมีโรงคั่วฯ ส่วนปลายน้ำ มีร้านคาเฟ่ อเมซอน มากกว่า 4,200 สาขา อีกทั้งในอนาคตจะเป็นสถานที่จัดประชุม World Coffee ให้องค์ความรู้กับผู้ประกอบการ นักศึกษา เป็นการสร้างความภูมิใจในแบรนด์ และยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนท่องเที่ยวและจังหวัดลำปาง ซึ่งการมี Amazon Park ยังจะช่วยให้เกิดการเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศและการขยายการลงทุนในต่างประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ต่อไป