ทำความรู้จักบทบาท SPR ระบบจัดการความมั่นคงทางพลังงานระดับโลก

202
- Advertisment-

หนึ่งในนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค คือการเตรียมจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างระดมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและพลังงานในสาขาต่างๆ เพื่อทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องและศึกษาวิธีการวางรูปแบบของ SPR เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

ในความเป็นจริง SPR ไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงพลังงาน ก่อนหน้านี้ตอนช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2561 ที่เริ่มร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไว้หลายประการในตอนต้น หนึ่งในนั้นก็มีเรื่อง SPR ด้วย แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจริง วัตถุประสงค์นี้ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 จะมีเหลือเพียงวัตถุประสงค์เดียวคือการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับเหมาะสม เท่านั้น

ทั้งนี้ หากดูในบริบทของโลกจะเห็นว่า ในต่างประเทศ SPR มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความมั่นคงทางพลังงานระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำด้านการใช้และการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ตัวอย่างเช่น

- Advertisment -
  • สหรัฐฯ: มีระบบ SPR ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จัดตั้งขึ้นหลังวิกฤตการณ์น้ำมันปี ค.ศ.1973 ที่เกิดจากกลุ่มโอเปกคว่ำบาตรส่งออกน้ำมัน โดยบทบาทของ SPR ในสหรัฐฯ จะช่วยบรรเทาความผันผวนด้านราคา รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถปล่อยน้ำมันจาก SPR เข้าสู่ตลาดเมื่อราคาน้ำมันในประเทศพุ่งสูงขึ้น ซึ่งช่วยลดความกดดันด้านราคาต่อผู้บริโภค และเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน ใช้จัดการกับภาวะหยุดชะงักของการนำเข้าน้ำมัน เช่น ในช่วงเกิดภัยธรรมชาติหรือความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ ยังใช้ในการสนับสนุนพันธมิตรระหว่างประเทศเมื่อเกิดวิกฤตพลังงาน เช่น ในกรณีสงครามอ่าวเปอร์เซีย หรือวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง
  • สหภาพยุโรป: แต่ละประเทศมีระบบ SPR ของตัวเอง และประสานงานกันในระดับภูมิภาคผ่านองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) ที่ประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่ต้องสำรองน้ำมันดิบเอาไว้ใช้ให้ได้อย่างน้อย 90 วันของการนำเข้า โดยบทบาทของ SPR ในยุโรป จะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในยามวิกฤต ประเทศสมาชิก IEA สามารถปล่อยน้ำมันสำรองร่วมกันเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค และยังช่วยรักษาความมั่นคงด้านพลังงานในยามวิกฤต ช่วยจัดหาน้ำมันในช่วงที่การผลิตจากต่างประเทศถูกจำกัด เช่น จากรัสเซีย หรือประเทศในตะวันออกกลาง
  • จีน: พัฒนาระบบ SPR ของตัวเองเพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของการบริโภคและการนำเข้าน้ำมัน และมีแผนในการเพิ่มขนาดของ SPR เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศในกรณีที่เกิดวิกฤต บทบาทของ SPR ในจีน จะช่วยรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะจีนต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงต้องการ SPR เพื่อให้มีเสถียรภาพในการผลิตและเศรษฐกิจ อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันโลก อีกด้วย
  • ญี่ปุ่น: ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างมาก ระบบ SPR ของญี่ปุ่นเน้นความมั่นคงทางพลังงานในกรณีที่เกิดการขาดแคลนน้ำมันอย่างฉับพลัน เนื่องจากญี่ปุ่นไม่มีแหล่งพลังงานธรรมชาติภายในประเทศมากนัก โดยบทบาทของ SPR ในญี่ปุ่น จะใช้เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ รับมือกับการขาดแคลนน้ำมันหลังจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวและสึนามิ รวมทั้งช่วยสร้างเสถียรภาพในการจัดหาพลังงาน และ SPR ยังช่วยให้ญี่ปุ่นมีน้ำมันสำรองเพียงพอในกรณีที่เกิดความไม่แน่นอนในการจัดหาจากตะวันออกกลาง

อาจกล่าวได้ว่า บทบาทของ SPR นอกจากจะมีบทบาทภายในของแต่ละประเทศแล้ว ยังมีบทบาทในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เช่น ในช่วงวิกฤตพลังงานโลก ประเทศที่มี SPR สามารถปล่อยน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลกเพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำมันในระยะสั้น ช่วยสร้างความมั่นคงในตลาดน้ำมันโลก ทำให้ระบบการค้าพลังงานมีเสถียรภาพมากขึ้น

สำหรับ การจัดตั้ง SPR ของไทย คงต้องรอดูโครงสร้างการบริหารจัดการว่าจะออกมาในรูปแบบใด จากนี้ไปบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงน่าจับตามองว่าจะต้องเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการโครงสร้างของ SPR อย่างไร  ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคนใหม่ที่จะเข้ามาบริหารคงจะต้องอาศัยผู้ที่เป็นมือโปรอย่างแท้จริง ด้วย

แหล่งที่มา :

ข้อมูลบทบาท SPR โลก : องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) กระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Energy) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry) สถาบันการศึกษาพลังงานแห่งอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford Institute for Energy Studies) และรายงานของ Congressional Research Service หน่วยงานวิจัยที่ทำหน้าที่วิเคราะห์และให้บริการข้อมูลแก่สมาชิกสภาคองเกรส สหรัฐฯ

Advertisment