“ทักษิณ” ยันรัฐบาลพร้อมส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่ต้อง Win-Win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

191
Screenshot
- Advertisment-

ในการปาฐกถาพิเศษ “Bull Rally of Thai Capital Market“ ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจัดโดย ”ข่าวหุ้น“ ที่ รร.ดุสิตธานีเมื่อช่วงค่ำวันที่ 13 มกราคม 2567 มีคำถามสำคัญที่ส่งมาจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้ผู้ดำเนินรายการคือนายบูรพา สงวนวงศ์ ได้อ่านให้นายทักษิณตอบ บนเวที ด้วยคำถามที่ว่า “รัฐบาลควรจะมองบทบาทนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงลงทุนอยู่ในประเทศไทยอย่างไร​ และจะส่งเสริมหรือดึงดูดให้มีการลงทุนต่อเนื่องในประเทศหรือไม่​ อย่างไร​? ” โดยนายทักษิณ ก็ได้ถามทางเชฟรอนกลับว่าในพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ที่เชฟรอนได้รับสิทธิสัมปทานอยู่เดิมนั้น  หากการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาสามารถที่จะมีข้อตกลงกันได้ ทางเชฟรอน จะลงทุนเพิ่มมากน้อยแค่ไหน 

นายทักษิณ กล่าวตอบว่า รัฐบาลนั้นให้การสนับสนุนนักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศอยู่แล้ว  แต่การลงทุนนั้นจะต้องเกิดประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทั้งรัฐและเอกชน หรือ Win-Win  ด้วยกัน ซึ่งในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น หากเป็นการช่วยสร้างงานให้เพิ่มขึ้นแต่เป็นแรงงานที่ขาดทักษะฝีมือ (unskilled labor)ตัวเขาไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุน 

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy  News Center -ENC ) รายงานว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ นักลงทุนต่างชาติที่เป็นบริษัทน้ำมันข้ามชาติมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้สามารถสำรวจพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี  บุคลากรและเงินทุน และข้อตกลงตามเงื่อนไขสัมปทานไทยแลนด์วัน นั้น จูงใจนักลงทุน และทำให้ประเทศได้รับประโยชน์จากค่าภาคหลวง ภาษีปิโตรเลียม รวมทั้งการสร้างบุคคลากรที่มีทักษะฝีมือและทักษะการบริหาร ทดแทนแรงงานต่างชาติได้เกือบทั้งหมด

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามบทบาทความสำคัญของบริษัทน้ำมันข้ามชาติในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเริ่มลดลงและทยอยถอนการลงทุนจากประเทศไทย โดยเหลือเพียง เชฟรอน และ เอ็กซอน เท่านั้น ที่เหลือเป็นบริษัทขนาดเล็ก เนื่องจากปริมาณสำรองปิโตรเลียมในอ่าวไทย เริ่มร่อยหรอลง และเหลือแหล่งที่เชื่อว่ามีศักยภาพสูงคือพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลกันระหว่างไทย-กัมพูชา หรือ OCA เท่านั้น

ในขณะที่แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กล่าวว่า การเปิดประมูลให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 25 ภายใต้ระบบสัมปทาน จำนวน 9 แปลง ในพื้นที่บนบก ที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจนั้น อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าที่หวังไว้ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลและขาดความเชื่อมั่นในขั้นตอนการได้รับใบอนุญาตต่างๆที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะต้องเป็นผู้ลงนาม ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ามีความล่าช้า  ทำให้มีปัญหาในการวางแผนทางธุรกิจ

ทั้งนี้ แม้ในกรณีคณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติ 3 เรื่องสำคัญที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งการอนุมัติให้โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ โอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะ ที่ถือครองอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 33.33 ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G12/48 ให้แก่บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  การอนุมัติให้ เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด และเมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (อีแอนด์พี) ลิมิเต็ด ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2578  และ การอนุมัติให้บริษัท พลังโสภณ จำกัด โอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะ ที่ถือครองอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 11 ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 8/2549/76 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G10/48 ให้แก่บริษัท แวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด  ก็ปรากฏว่า ยังไม่ได้มีการลงนามในหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ดำเนินการตามที่ ครม.มีมติออกมาแต่อย่างใด 

Advertisment