“ตามรอยพ่อฯ ปี 9” จัดกิจกรรมรณรงค์ ตอกย้ำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น

581
- Advertisment-

“ตามรอยพ่อฯ ปี 9” จัดกิจกรรมรณรงค์ ณ จุดเริ่มต้นที่ จ. พระนครศรีอยุธยาทั้งขบวนปั่นจักรยานรณรงค์ การเอามื้อสามัคคี
ตอกย้ำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น แก้ทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปี 9” (ตามรอยพ่อฯ ปี 9) จัดกิจกรรมรณรงค์ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลุ่มน้ำป่าสัก จุดเริ่มต้นของโครงการตามรอยพ่อฯ เมื่อ 9 ปีที่แล้ว เผยความสำเร็จแนวทางการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถแก้ปัญหาทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน โดยจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี (ลงแขก) ณ โคกหนองนาโปรดปัน ต.ระโสม อ.ภาชี พื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จของ คนมีใจ พร้อมจัดขบวนปั่นจักรยานรณรงค์ระยะทาง 119 กม. มั่นใจการขยายผลแตกตัวของโครงการทำให้เกิดกระแสความสนใจในทุกวงการอย่างกว้างขวาง องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นจะสร้างแรงบันดาลใจส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นไม่รู้จบ

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “โครงการตามรอยพ่อฯ เกิดขึ้นในปี 2556 หรือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว โดยได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ว่าลุ่มน้ำป่าสักจัดการได้ยากเพราะมีความลาดชันสูง  สิ่งที่พระองค์ท่านทรงห่วงใยนั้น เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน จึงเกิดการรวมตัวของ 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วยภาครัฐ วิชาการ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน ศาสนาและสื่อมวลชน เพื่อดำเนินกิจกรรมรณรงค์ เผยแพร่ ส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้พระราชทานไว้แก่คนไทย โดยมุ่งหวังให้คนไทยเกิดการตระหนัก สนใจ เรียนรู้ และลงมือทำ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ผ่านพ้นทุกวิกฤตปัญหาได้อย่างยั่งยืนและยังส่งต่อความช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้ด้วย โดยเน้นการทำตัวอย่างให้ดู และรณรงค์ให้คนที่มีกำลัง ลุกขึ้นมาทำตาม  เริ่มทำกิจกรรมรณรงค์ครั้งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การขยายผลแตกตัวอย่างกว้างขวาง เกิดเครือข่ายของคนมีใจหรือผู้สนใจในการลงมือปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชา และมีพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน ทั้งในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำป่าสักเองและลุ่มน้ำอื่นๆ ครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ”  

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวเกี่ยวกับกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้ว่า “โครงการตามรอยพ่อฯ ปี 9 ดำเนินงานภายใต้แนวคิด   ‘9 ปี แห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน’ โดยเลือกพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จของคุณไพโรจน์ วิภาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นเภสัชกรที่ศรัทธาในศาสตร์พระราชา ได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง สร้างพื้นที่จากที่นาว่างเปล่ามาทำเป็นโคก หนอง นา ปลูกไม้ป่าให้ความร่มรื่น และกำลังปลูกพืชอาหารและสมุนไพรเพิ่ม คุณไพโรจน์ได้ทำให้เห็นเป็นต้นแบบว่าโคก หนอง นา ทำได้จริง หยุดท่วม หยุดแล้งได้จริง ในขณะที่พื้นที่รอบข้างยังคงประสบกับภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งในภายภาคหน้าพื้นที่แห่งนี้ก็จะเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยและเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากวิกฤตต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 200 คน แบ่งเป็นเครือข่ายเอามื้อจากจังหวัดต่างๆ 140 คน ผู้สมัครผ่านทางเฟซบุ๊กโครงการฯ 30 คน ตลอดจนพนักงานเชฟรอนและครอบครัวอีก 30 คน มาร่วมเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น  ขุดปรับคลองไส้ไก่รอบแปลงนาและรอบหนองน้ำ  ทำแปลงปลูกผักอินทรีย์ ทำนาอินทรีย์ ปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพร ห่มฟางใส่ปุ๋ยแห้งปุ๋ยน้ำ เพาะผัก เพาะต้นไม้ และทำน้ำยาอเนกประสงค์ เป็นต้น”

นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อ 9 ปีที่แล้ว โครงการตามรอยพ่อฯ ได้เริ่มทำกิจกรรมรณรงค์ครั้งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดแรก โครงการได้เริ่มทำกิจกรรมในปี 1 (พ.ศ. 2556) โดยในครั้งนั้น เราได้จัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น รณรงค์เป็นระยะเวลา 9 วัน ในชื่อ ’จากปลายน้ำสู่กลางน้ำ  สร้างหลุมขนมครกในแบบโคก หนอง นา โมเดล หยุดท่วมหยุดแล้งอย่างยั่งยืน’ เพื่อแสดงพลังในการเรียนรู้ และน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนมาสู่การปฏิบัติ โดยการเดินทางเริ่มจาก ‘พื้นที่ปลายน้ำ พร้อมเผชิญเหตุอุทกภัย’ ที่วัดชูจิตธรรมาราม อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปยังต้นน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี  ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมา โครงการตามรอยพ่อฯ ได้สร้างตัวอย่างความสำเร็จของผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชาว่าสามารถรอดพ้นจากทั้งวิกฤตน้ำท่วม น้ำแล้ง และล่าสุดคือวิกฤตโควิด-19 ได้จริง โดยไม่เพียงสามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว แต่ยังเป็นที่พึ่งให้กับคนและชุมชนรอบข้างได้อีกด้วย อันจะเป็นแรงบันดาลใจให้มีผู้สนใจและลงมือปฏิบัติตามองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับสังคมไทยต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ”
อาทิตย์ กริชพิพรรธ
ขบวนปั่นจักรยานรณรงค์ระยะทาง 119 กม.
กิจกรรมเอามื้อสามัคคี (ลงแขก)
- Advertisment -
Advertisment