ตามติดเส้นทาง RE100 ของโลกและไทย ​สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065

1860
- Advertisment-

RE100 มาจาก Renewable 100% หรือพลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์ หมายถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานสีเขียว แทนที่แหล่งพลังงานสิ้นเปลืองหรือที่ใช้แล้วหมดไป

การหันหัวเรือไปสู่ทิศทางพลังงานสีเขียวนี้ กำลังได้รับความสนใจและใส่ใจมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสถานการณ์ภาวะโลกรวน ที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในลักษณะของภัยธรรมชาติ อาทิ พายุ น้ำท่วม หรือภัยแล้ง ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นสู่ระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้นานาประเทศต่างเริ่มตื่นตัวว่าเราทุกคนไม่สามารถใช้ทรัพยากรของโลกใบนี้ ในวิถีเดิมได้อีกต่อไป หากต้องการรักษาไว้ซึ่งอนาคตของลูกหลาน

หนึ่งในขบวนการขับเคลื่อนที่สำคัญภายใต้แนวคิด RE100 ของโลกคือ Climate Group องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมุ่งส่งเสริมการริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการตั้งโครงการ RE100 เครือข่ายความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อการใช้พลังงานหมุนเวียน 100%, โครงการ EV100 เครือข่ายความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 100% และโครงการ EP100 เครือข่ายความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อการผลิตพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์​ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100%

- Advertisment -

โครงการ RE100 โดย Climate Group เป็นความร่วมมือกับ CDP มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก กว่า 400 องค์กรซึ่งล้วนเป็นแบรนด์ชั้นนำของหลากหลายวงการ อาทิ Accenture, Apple, Burberry, 3M, airbnb, Google, Chanel, Hyundai, Starbucks, Samsung, Allianz Group และ eBay ทำให้สามารถส่งแรงกระเพื่อม เสริมการปรับตัวของหน่วยงานอื่นๆ ในตลาด รวมถึงสร้างอิทธิผลต่อภาครัฐผู้วางนโยบายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ รวมไปถึงสร้างอิทธิพลไปทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชียแปซิฟิก

โดยกรอบการพัฒนาเชิงนโยบายที่สำคัญของโครงการ RE100 ได้แก่ การเอื้อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างเสรีระหว่างการค้าไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดและไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล การยกเลิกข้อกีดกันเชิงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น การสร้างโครงสร้างตลาดที่เอื้อให้ผู้ซื้อระดับองค์กรและผู้ขายพลังงานสะอาดมาเจอกันได้โดยตรง การส่งเสริมเครือข่ายการเข้าถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลายสำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กร การส่งเสริมการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาระบบเพื่อการเข้าถึงใบรับรองคุณลักษณะทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Attribute Certificates หรือ EACs)

สำหรับในประเทศไทย เราได้เห็นคลื่นกระแส RE100 เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยภาครัฐ หรือการก่อกำเนิดสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทยโดยพลังความร่วมมือของภาคเอกชน และหนึ่งในผู้ผลักดัน RE100 ที่สำคัญของประเทศ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ดูแลเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

กฟผ. นั้นกำลังผลักดันโครงการสำคัญด้านพลังงานหมุนเวียนมากมาย เพื่อนำพาประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน​ (Carbon Neutrality) ภายใต้กลยุทธ์ Triple S (Sources, Sink and Support) ซึ่งประกอบไปด้วย

1. Sources Transformation  ที่ช่วยในเรื่องการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิดของพลังงาน ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต

2. Sink Co-Creation การเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน ผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ที่ กฟผ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวทางการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2588

3. Support Measures Mechanism การสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม เช่นโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทาง กฟผ.​ ร่วมกับรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ได้ติดตาม “โครงการเมืองต้นแบบพลังงานสะอาด” โดยลงพื้นที่ ณ​ เขื่อนศรีนครินทร์ อำเภอ ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญ​ ของ “Green Kan Model” เพื่อยกระดับจังหวัดกาญจนบุรี สู่การเป็นเมืองแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศไทยไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% หรือ RE100

“จังหวัดกาญจนบุรีเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาสู่เมืองพลังงานสะอาด เนื่องจากมีเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ นอกจากนี้ยังมีแผนการสร้าง Hydro-floating Solar Hybrid หรือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ รวมทั้งยังเสริมศักยภาพความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage Hydro Power) ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ตลอด 24 ชั่วโมง (RE100)” นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

“ระบบกักเก็บพลังงาน Hydrogen” ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง บางกรวย จ.นนทบุรี เป็นอีกโครงการสำคัญ ที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด RE100 และเตรียมต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต หนุนเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทาง กฟผ.​ ก็ได้เปิดตัวโครงการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการศูนย์เชี่ยวชาญพลังงาน กฟผ. (EGAT – Energy Excellence Center: EGAT – EEC) ที่ กฟผ. บ้านผีเสื้อ และบริษัท Enapter ได้ร่วมลงนามข้อตกลง (MOU) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 เพื่อร่วมมือในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การจัดหา และติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบก๊าซไฮโดรเจน ระบบบริหารจัดการพลังงานและอุปกรณ์อื่น ๆ รวมถึงดำเนินการ Microgrid Pilot Project ร่วมกับบ้านรักษ์พลังงานในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง

“ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบก๊าซไฮโดรเจน เป็นเทคโนโลยีสะอาด ใช้เพียงน้ำและพลังงานหมุนเวียนในการผลิตก๊าซไฮโดรเจน จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งในพลังงานที่จะช่วยลดผลกระทบต่อโลกและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการใช้พลังงานไฮโดรเจนอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ. ได้นำไปใช้ในบริเวณกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา เป็นแห่งแรก ด้วยการกักเก็บกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมในรูปแบบของก๊าซไฮโดรเจนเพื่อเพิ่มความเสถียรในการผลิตกระแสไฟฟ้า” นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าว

หนึ่งในคำถามสำคัญที่หลายภาคส่วนอาจกำลังมีในใจ คือประเทศไทยมีเสถียรภาพด้านพลังงานเพียงใด และสอดคล้องหรือไม่ กับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศแห่งพลังงานหมุนเวียนที่โลกกำลังจับตา

กฟผ.​ ยืนยันว่า คุณภาพไฟฟ้าของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าเป้าหมาย สอดคล้องกับผลสำรวจไฟฟ้าคุณภาพจาก World Bank และ อันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ BBB+ (Fitch Ratings) เหมาะสมสำหรับการเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน ผลักดันเมืองต้นแบบด้านพลังงานสะอาด พัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้ารองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานสีเขียว ซึ่งล้วนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ที่ผ่านมาทาง กฟผ. ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลทั้งด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ด้วยการผลิตไฟฟ้าที่ผสมผสานเชื้อเพลิงจากทรัพยากรที่หลากหลาย (Generation Mix) โดยล่าสุดได้เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านโครงการหลัก คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อนของ กฟผ. หรือโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) อีกทั้งยังมุ่งเน้นลดความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน ควบคู่กับการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถรองรับการนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ กฟผ. มุ่งดูแลให้เกิดความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวมอยู่เสมอ ผ่านโครงการ อาทิ การจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast Center) และ การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่และไฮโดรเจน อีกทั้งเสริมความเชื่อมั่นในคุณภาพของไฟฟ้าด้วยผลสำรวจดัชนีคุณภาพบริการไฟฟ้าที่ดีของไทยโดยธนาคารโลก (World Bank) ที่เผยค่าเฉลี่ยความถี่ที่ไฟฟ้าดับ (SAIFI) และค่าเฉลี่ยระยะเวลาไฟฟ้าดับ (SAIDI) อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าเป้าหมายมาโดยตลอด

“กฟผ. ภูมิใจและมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพในราคาที่แข่งขันได้ ที่สำคัญคือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักในภูมิภาคอาเซียนของนักลงทุนต่างชาติ พร้อมยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง RE100 ที่ทั่วโลกต่างกำลังให้ความสำคัญ” นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าว

Advertisment