ERSจัดดีเบตนโยบายพลังงาน 5 พรรค ต่างหนุนพลังงานหมุนเวียนจากพืชพลังงาน สำคัญกว่าโซลาร์เซลล์ ทั้งไม่เห็นด้วยตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แต่ยังเห็นต่างเรื่องอุดหนุนราคาน้ำมัน
เมื่อวันที่ 13 มี ค.2562กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS )จัดดีเบต ส่องนโยบายพลังงาน #เลือกตั้ง62 ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีตัวแทนจาก5พรรคการเมืองเข้าร่วมประชันนโยบาย ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังธรรมใหม่ ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ที่เดิมตอบรับจะเข้าร่วมการดีเบตครั้งนี้ แจ้งขอถอนตัว ในไม่กี่วันสุดท้ายก่อนที่งานจะเริ่ม
รูปแบบของการจัดการดีเบตครั้งนี้ มี นาย ณ กาฬ เลาหะวิไลย บรรณาธิการบริหารเครือบางกอกโพสต์ เป็นผู้ดำเนินรายการโดยตั้งคำถามให้ตัวแทนแต่ละพรรคได้เวียนกันตอบภายในเวลาที่กำหนด และได้มีการ Facebook Live ทางเพจของERS ที่ผู้สนใจสามารถติดตามชมย้อนหลังได้ด้วย
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ นั้น ทางผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) ได้สรุปออกมาในส่วนที่แต่ละพรรคตอบคำถามผู้ดำเนินรายการดังนี้
ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ นายสันติ กีระนันทน์ กล่าวว่า พรรคฯมีแนวคิดสร้าง 3 เสาเข็มหลัก ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางพลังงานที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง 2.สร้างประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ ด้วยการกำหนดนโยบายที่ไม่บิดเบือนเป็นหลัก โดยการอุดหนุนราคาพลังงานจะทำเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ราคาพลังงานมีเสถียรภาพ และเน้นไปในกลุ่มผู้ที่ด้อยโอกาส ผ่านบัตรประชารัฐ และ 3.เร่งทำพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนทางด้านภาษีเพื่อให้เกิดการนำปาล์มมาผลิตเป็นไบโอดีเซล และบังคับการผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร5
นอกจากนี้จะกำหนดแผนโรดแมป 5 ปี ยกเลิกรถยนต์ไฮบริด เพื่อไปส่งเสริมให้การใช้รถยานยนต์ไฟฟ้า(EV)เกิดขึ้นได้จริง
สำหรับนโยบายด้านการกำกับดูแล บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) นั้น พรรคฯไม่มีนโยบายให้ ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ โดยรัฐจะมีนโยบายที่ชัดเจนให้ ปตท. ทำพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ และให้กระจายธุรกิจสู่พลังงานทางเลือกมากขึ้นต่อไป
ส่วน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องของราคาพลังงาน พรรคประชาธิปัตย์ มีความชัดเจน ว่าจะต้องตรึงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคาก๊าซหุงต้มเพื่อเป็นการช่วยลดภาระต่อผู้บริโภค ในขณะที่ราคาก๊าซเอ็นจีวี ก็จะต้องมีความชัดเจน ว่าราคาจะต้องไม่แพงไปกว่ารถที่ใช้เครื่องดีเซล
นอกจากนี้ยังจะต้องทำให้ข้อมูลด้านพลังงานเป็นชุดเดียวกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านข้อมูลพลังงาน และ การกำหนดเป้าหมายให้ปี 2021 ประเทศต้องมีสัดส่วนพลังงานทดแทน 25% และต้องเข้าถึงประชาชนทุกครัวเรือน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)ที่พรรคฯยืนยันจะเดินหน้าต่อ
สำหรับการกำกับดูแลบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) นั้น เดิมเคยมีแนวคิดสนับสนุนการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และการใช้ระบบจ้างผลิต แต่เมื่อการประมูลแหล่งปิโตรเลียม บงกชและเอราวัณเสร็จสิ้นแล้ว ก็จำเป็นจะต้องเดินหน้าต่อตามนโยบาย แต่พรรคฯเห็นว่าจะต้องปรับบทบาทขององค์กร ปตท.และปตท.สผ.ให้เป็นบริษัทพลังงานที่เป็นที่พึ่งด้านพลังงานของประชาชนคนไทย ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ ทั้งนี้หากปตท. จะต้องทำเรื่องที่ต้องผูกขาด ในบางธุรกิจ ก็อาจจะต้องมีการปรับแก้กฏหมาย ที่ใช้กลไกเรื่องของภาษีเข้ามาช่วยให้ชัดเจน
นอกจากนี้พรรคมีนโยบายด้านอุตสาหกรรมสีเขียว(กรีนอินดัสทรี) ดังนั้นธุรกิจของ ปตท. ต้องเพิ่มบทบาทจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียว เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่ ที่เกี่ยวข้องไปถึงสมาร์ทกริด สมาร์ทมิเตอร์ หรือขยายไปสู่พลังงานทางเลือกมากขึ้น
ส่วนปาล์มน้ำมัน นั้น นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ชัดเจน ว่าจะต้องมีการประกันราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกร ไม่ต่ำกว่า 4บาทต่อกก.
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า จะต้องปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP2018) ใหม่ โดยขยายเป้าหมายพลังงานทดแทนให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีเป้าหมายเพียงแค่ 20% ซึ่งเห็นว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สมจริง พร้อมทั้งสร้างการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้รถขนส่งสาธารณะมากขึ้น ทบทวนมาตการส่งเสริมของภาครัฐใหม่ โดยเฉพาะอาคารใหม่ที่ประหยัดพลังงานควรได้รับการส่งเสริมมากขึ้น ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นโรงไฟฟ้าที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องให้ทำ EIA และตั้งกองทุน EIA ขึ้นให้ผู้ประกอบการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อนำไปใช้จ้างที่ปรึกษาดูแลด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป
ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือการอุดหนุนราคาพลังงาน ที่เป็นนโยบายประชานิยมที่จากการศึกษามีข้อมูลชี้ว่า การอุดหนุนราคาในช่วงที่ผ่านมาก็สร้างความเสียหายไม่แพ้นโยบายรับจำนำข้าว โดยประชาชนควรจะต้องใช้พลังงานในราคาที่สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง
ส่วนการกำกับ ดูแล ปตท. นั้นจะต้องเน้น ไม่ให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโดยเฉพาะการเปิดเสรีธุรกิจท่อก๊าซฯ ที่ต้องทำอย่างจริงจัง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศ ควรจะใช้ให้น้อยลง และหันไปส่งออกเพื่อเป็นรายได้กลับเข้ามา และจะให้มีการส่งเสริมการใช้พลังงานจากพืชพลังงานในประเทศอย่างจริงจัง โดยพรรคมีนโยบายเร่งด่วน ซึ่งเป็นแผนระยะสั้น ที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนให้ได้ปีละ 25% เป็นเวลา 4 ปี ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีพลังงานทดแทน100% โดยบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ต้องเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยรัฐบาลผลักดันการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนดังกล่าว ด้วยการแปรรูปพืชพลังงานให้เป็นพลังงานน้ำมัน และไฟฟ้า พร้อมทั้งผลักดันการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลB20 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์E85 อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ พรรคไม่มีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และจากพลังงานลม ที่ส่วนใหญ่ เป็นอุปกรณ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และเกษตรกรไม่ได้ประโยชน์กลับคืนมาอย่างแท้จริง แต่การแปรรูปพืชเศรษฐกิจเป็นพลังงาน ผลประโยชน์จะตกถึงเกษตรกรและแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้พรรคไม่เห็นด้วยกับการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ โดยปตท.ยังต้องอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ต่อไป
ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)นั้น จะต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มมากขึ้นจากปัจจุบันผลิตอยู่เพียง 10% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำได้ ทั้งนี้หากสามารถที่จะสร้างโรงไฟฟ้าจากปาล์มน้ำมันที่กระบี่ได้ เชื่อว่า ราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกร จะอยู่ที่5บาทต่อกก.ได้
ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ตัวแทนพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า หากได้เข้าไปเป็นรัฐบาล พรรคจะดำเนินการลดราคาน้ำมัน โดยยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่ถึง 30 บาทต่อลิตร แม้ว่าราคาน้ำมันโลกจะปรับสูงเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลก็ตาม พร้อมกันนี้จะปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อให้ราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ลดลงได้ 5 บาทต่อถัง และลดราคาค่าไฟฟ้า ด้วยการทำให้ระบบการเชื่อมโยงไฟฟ้าโปร่งใส ช่วยลดเงินทอน หรือเงินที่ถูกเรียกเก็บอย่างไม่เป็นธรรมในการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้งนี้จะต้องตั้งคณะกรรมการบูรณาการร่วมด้านพลังงานหมุนเวียนด้วย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
รวมทั้งจะยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งจะใช้นโยบายพลังงานควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านการเกษตร โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง มาผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น
ส่วนการกำกับ ดูแล ปตท. นั้น ยืนยันว่าไม่มีนโยบายยึดคืน ปตท. แต่ต้องมีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ(NOC) ที่รัฐถือหุ้น 100% ดูแลเรื่องน้ำมันและปิโตรเลียมของประเทศ โดย ปตท.ไม่มีสิทธิ์เป็น NOC พร้อมกันนี้จะต้องตรวจสอบทุจริตในปตท. โดยเฉพาะเรื่องท่อก๊าซธรรมชาติ เพื่อคืนกำไรให้ประชาชนหาก ปตท.มีกำไรมากเกินไป
สำหรับเรื่องของนโยบายพลังงานหมุนเวียน พรรคสนับสนุนเรื่องพืชพลังงาน เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ส่วนเรื่องของโซลาร์เซลล์ นั้นเห็นว่า ยังไม่ควรจะเร่งส่งเสริม เพราะปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์ ที่ใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด