ดีเซลขยับขึ้น 32 บาทต่อลิตร 1 พ.ค.นี้หลังกองทุนน้ำมันติดลบพุ่งสูง 5.6 หมื่นล้าน

382
N4027
- Advertisment-

กองทุนน้ำมันติดลบพุ่ง 5.6 หมื่นล้านบาท กบน.เตรียมขยับเพดานดีเซล เป็น 32 บาทต่อลิตร 1 พ.ค.65 นี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วานนี้ (27 เม.ย.2565) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อลิตร หลังจากนั้น กบน. จะพิจารณาปรับราคาเป็นขั้นบันได โดยปัจจุบันหากไม่มีการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ประมาณ 40 บาทต่อลิตร และจากการอุดหนุนเพียงครึ่งเดียวตามมติคณะรัฐมนตรี จะทำให้เพดานการปรับราคาจะอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อลิตร ซึ่งหากในแต่ละรอบสัปดาห์ราคาน้ำมันตลาดโลกมีการปรับลดลง ก็จะมีการปรับเงินอุดหนุนและปรับเพดานราคาลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันโลกต่อไป

ขณะเดียวกัน ในส่วนของน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมก็จะทยอยปรับลดการชดเชยราคาลงเช่นกัน โดยจะปรับลดการชดเชยลงสัปดาห์ละ 2 บาท และมีเป้าหมายจะจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซล
พรีเมียมลิตรละ 1 บาท

- Advertisment -

นอกจากนี้ กบน. ยังได้พิจารณาการปรับลดการชดเชยราคาในกลุ่มน้ำมันเบนซิน E85 โดยจะปรับลดการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลงสัปดาห์ละ 1 บาท จากในปัจจุบันที่อุดหนุนอยู่ที่ 3.53 บาทต่อลิตร โดยมีเป้าหมายให้มีการอุดหนุนที่ 0.53 บาทต่อลิตร

ปัจจุบัน ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 26 เมษายน 2565 ติดลบ 56,278 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 31,976 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว​พลังงาน ( Energy News Center- ENC​ )​ รายงานว่า โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 27 เม.ย.65 ราคาดีเซล หน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 32.59 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาขายปลีกยังอยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุนที่เป็นจริงค่อนข้างมาก โดยรัฐใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุนราคาไว้ถึง ลิตรละ 9.57 บาทต่อลิตร เปรียบเทียบกับแก๊สโซฮอล์​95 ที่รถมอเตอร์ไซค์ 21 ล้านคันใช้ ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 26.71 บาทต่อลิตร แต่ราคาขายปลีกอยู่ที่ 38.85 บาทต่อลิตร ซึ่งมีส่วนต่างถึง 12.14 บาทต่อลิตร โดยที่กลุ่มผู้ใช้แก๊สโซฮอล์​95 กลายเป็นกลุ่มที่ถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ลิตรละ 1.02 บาทต่อลิตร ถูกเก็บภาษีสรรพสามิต 5.85 บาทต่อลิตร และบวกค่าการตลาดจากผู้ค้าที่ 2.13 บาทต่อลิตร ที่ชี้ให้เห็นว่าเสียเปรียบผู้ใช้ดีเซลเป็นอย่างมาก

Advertisment