ดาว และ เอสซีจี ลงนามความร่วมมือพัฒนาโซลูชั่นรีไซเคิลขยะพลาสติก โดยกำลังศึกษาแนวทางการลงทุนโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติก คาดว่าจะนำร่องผลิตเป็นเม็ดพลาสติกขนาด 20,000 – 30,000 ตันต่อปี ในปี 2563 เพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน
บริษัท ดาว ร่วมกับ บริษัท เอสซีจี ลงนามข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาโซลูชั่นใหม่ในการรีไซเคิลพลาสติกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก และลดปริมาณการรั่วไหลของพลาสติกไปสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สำหรับพลาสติกในประเทศไทย
นายจิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาว กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีปริมาณขยะถูกทิ้งในทะเลมากถึง 8 ล้านตันต่อปี เฉพาะประเทศไทยมีปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งสามารถนำขยะเหล่านี้โดยเฉพาะพลาสติกกลับมารีไซเคิล หรือแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกใช้ใหม่ได้ประมาณ 2-3 แสนตันต่อปี ดาวจึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีในการจัดเก็บ การบริหารจัดการขยะ การรีไซเคิล ตลอดจนการหาตลาดใหม่ ๆ ให้กับขยะพลาสติก
ล่าสุด จะทำงานกับเอสซีจี ศึกษาแนวทางการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ ด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการด้านการรีไซเคิลเชิงกล (Mechanical Recycling) การรีไซเคิลพลาสติกกลับเป็นวัตถุดิบ (Feedstock Recycling) และการนำวัตถุดิบหมุนเวียนมาผลิตพลาสติก (Renewable Feedstock) ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากขยะพลาสติก วัตถุดิบปิโตรเคมีจากขยะพลาสติก เม็ดพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น โดยในส่วนของดาว มีเทคโนโลยีในด้าน Mechanical Recycling อยู่แล้วแต่จะต้องดูว่าจะพัฒนาร่วมกับเอสซีจีต่อได้อย่างไร เพราะกระบวนการ Feedstock Recycling สามารถแปรรูปขยะพลาสติกมาเป็นเม็ดพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ใกล้เคียง หรือเทียบเท่าเม็ดพลาสติกผลิตใหม่ (Virgin Plastic)
ด้าน นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ทั้งดาว และเอสซีจี พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการขยะพลาสติก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐบาลด้วย โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในการรวบรวมและคัดแยกขยะ โดยในการทำเรื่อง Plastic Waste หรือโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติก จะพยายามขนย้ายขยะให้น้อยที่สุด เพราะเมื่อใดที่มีการขนย้ายเท่ากับเป็นการเพิ่มมลภาวะ พลังงาน หรือนำขยะจากจังหวัดหนึ่งไปสู่จังหวัดอื่น แต่ต้องการให้มี Infrastructure กระจายอยู่ในหลายพื้นที่เพื่อให้สามารถบริหารจัดการขยะพลาสติกในบริเวณนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นพื้นที่ภาคตะวันออกจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติก เนื่องจากมีการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ความร่วมมือกับดาวในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งเป็นโซลูชั่นเพื่อการรีไซเคิลและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกในประเทศไทย โดยในส่วนของการศึกษาตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายปีนี้ (62) และจะเริ่มทำโครงการนำร่องขนาดเล็กภายในปี 2563 เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกขนาด 20,000 – 30,000 ตันต่อปี โดยจะต้องทำงานกับผู้รวบรวมขยะและเน้นใช้วัตถุดิบในพื้นที่มากกว่าจะขนส่งมาจากพื้นที่อื่น รวมทั้งต้องดูสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ที่จะรองรับด้วย เช่นพื้นที่ภาคตะวันออกก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความเหมาะสม
“เรามาถึงจุดที่เป็นปัญหานี้ได้ เป็นเพราะเราไม่ได้ดีไซน์ระบบเศรษฐกิจในลักษณะ Circular Economy มาตั้งแต่ต้น ความตั้งใจตรงนี้จึงอยากจะเริ่มต้นทดลองขนาดเล็ก ๆ ดูก่อน หากเกิดขึ้นมาได้ก็สามารถขยายต่อไปได้ สุดท้ายเรื่องของการให้ความรู้กับเรื่อง Circular Economy เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะให้ดีควรให้ความรู้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนด้วย เพื่อให้เกิดการตระหนักเรื่องปัญหาขยะพลาสติก” นายรุ่งโรจน์กล่าว
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในการจัดการขยะพลาสติก ยังต้องอาศัยการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ การทิ้งขยะ และการขนส่ง อย่างจริงจัง ควบคู่กับการให้สิทธิประโยชน์ (Incentive) เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการตระหนักถึงเรื่องการรีไซเคิล และมีกระบวนการผลิตที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมทั้งการให้ความรู้เรื่อง Circular Economy ตั้งแต่ระดับนักเรียนในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการตระหนักร่วมกัน และลงมือคัดแยกขยะ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาสังคม ไม่ใช่แค่ภาคเอกชน หรือภาครัฐ เท่านั้น
นายโจนาธาน เพนไรซ์ ประธานบริษัท ดาว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นโอกาสทางธุรกิจและเป็นอีกหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งดาวจะนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และประสบการณ์ทางธุรกิจกว่า 50 ปีในประเทศไทย มาพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกในประเทศต่อไป โดยความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะตอบโจทย์ปัญหาสังคม ยังตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มอัตราการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ภายในปี 2570
“การที่ขยะพลาสติกหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน ที่ผ่านมา ดาว และ เอสซีจี จึงได้คิดค้นวิธีการและนวัตกรรมที่มาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีที่นำขยะพลาสติกมาเป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของถนนยางมะตอยและลานจอดรถจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับขยะพลาสติกที่มีมูลค่าต่ำ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดหลายชั้นและขยะพลาสติกที่ปนเปื้อน” นายโจนาธานกล่าว
ขณะนี้ ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบเส้นตรง (Linear Economy) คือนำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตใช้แล้วก็ทิ้งไป แต่ Circular Economy เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ หมุนเวียนกลับมาใช้ และการรีไซเคิลแปรรูปเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ซึ่งมีความยั่งยืนกว่าและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมปัจจุบัน โดยที่ผ่านมา ดาว และ เอสซีจี ได้เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพันธมิตรเพื่อกำจัดขยะพลาสติก (Alliance to End Plastic Waste : AEPW) ซึ่งร่วมกับสถาบันการเงิน ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในการร่วมกันสร้างสรรค์โลกที่ปราศจากขยะพลาสติกให้เป็นจริงได้ในที่สุด