ดาว เปิดเวที Dow-CST Award ครั้งที่ 7 ชวนเยาวชนไทยร่วมจัดการปัญหาขยะ

1256
- Advertisment-

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (DOW-CST AWARD) ประจำปี 2562 ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาว ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 มีครูและนักเรียนทั่วประเทศร่วมประชันไอเดียการจัดการขยะด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ ชิงทุนการศึกษาและโล่เกียรติยศรวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท

นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ดาว เล็งเห็นความจำเป็นในการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และต้องการสร้างจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้กำหนดธีมการประกวดภายใต้หัวข้อ “การจัดการขยะและของเสีย (Waste Management)” โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนและครูที่ปรึกษานำเสนอไอเดียที่น่าสนใจ สร้างแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปต่อยอดเพื่อการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST AWARD เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ซึ่งในปีนี้เปิดให้ครูและนักเรียนประยุกต์ใช้เทคนิคปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) อย่างสร้างสรรค์เพื่อร่วมจัดการปัญหาขยะ มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศทั้งสิ้น 20 ทีม แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6 ทีม และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 14 ทีม ผู้ที่ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมจะได้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2020) ที่จะจัดขึ้นที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี แจ้งวัฒนะ ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้

- Advertisment -

สำหรับผู้ชนะโครงการฯ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่

o รางวัลยอดเยี่ยม ซึ่งได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัลเกียรติยศ ได้แก่ โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ.ปราจีนบุรี ด้วยโครงงานการทดลองเคมีแบบย่อส่วนเรื่องการจัดการไมโครพลาสติก

o รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนบุญฑริกพิทยาคาร จ.อุบลราชธานี จากโครงงานการศึกษาผลของสารช่วยติดสีจากธรรมชาติต่อคุณภาพและเฉดสีของฝ้ายที่ย้อมจากกาบมะพร้าวแก่แทนการใช้สารเคมี ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท

o รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนดัดดรุณี จ.ฉะเชิงเทรา จากโครงงานการบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือนโดยใช้พืชในท้องถิ่น ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท

ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่

o รางวัลยอดเยี่ยม ซึ่งได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัลเกียรติยศ ได้แก่ โรงเรียนตะพานหิน จ.พิจิตร ด้วยโครงงานการทดลองเคมีแบบย่อส่วนเรื่องปฏิกิริยาเคมีและความสัมพันธ์ทางมวลของทองแดง

o รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จ.ภูเก็ต จากโครงงานเซลล์กัลวานิกแบบย่อส่วน ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท

o รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ สุราษฎร์ธานี จากโครงงานชุดทดสอบโลหะด้วยสารสกัดพืช ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท

 

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุภา หารหนองบัว นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน เป็นองค์ความรู้ที่ช่วยให้วิชาวิทยาศาสตร์สามารถเข้าถึงได้ง่าย ประกอบกับเยาวชนจะสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น นำมาพัฒนาเป็นสื่อในโครงงานวิทย์ฯ และปรับใช้กับบทเรียนในชั้นเรียน พร้อม ๆ กับช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทยได้ด้วย

ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เชื่อว่าวิทยาศาสตร์สามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายต่าง ๆ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมโลกได้ การประกวดในปีนี้จึงสนับสนุนให้ครูและเยาวชนได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาคิดค้นวิธีการจัดการขยะและของเสียด้วยเทคนิคและนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ สอดรับกับทิศทางการตื่นตัวของประเทศไทยในด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กลับคืนมาอีกครั้ง

โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” (Dow Chemistry Classroom) ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาเคมีโดยใช้เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนที่มีความปลอดภัยสูง ใช้ปริมาณสารเคมีน้อย ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณของเสีย และให้นักเรียนได้มีโอกาสลงมือทำการทดลองด้วยตนเอง รวมทั้งยังมีกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาวิชาเคมีอื่น ๆ อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการการทดลองเคมีแบบย่อส่วนให้แก่ครูวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปใช้บูรณาการการเรียนการสอนตามหลักสูตร เป็นต้น โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมกว่า 7 ปี มีคณาจารย์กว่า 2,000 คน จาก 762 โรงเรียนทั่วประเทศ และมีนักเรียนกว่า 100,000 คน ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

Advertisment