ดาว ร่วมหนุน SMEs นำ Circular Economy และ IoT ปรับปรุงธุรกิจสู่อุตสาหกรรม 4.0

1007
- Advertisment-

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐ เปิดตัวโครงการ “ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน ปี 2562” ดึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าร่วมปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมสนับสนุนนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ Internet of Things (IoT) มาช่วยยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันพลาสติก เปิดตัวโครงการ “ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน ปี 2562” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ภายในงาน Thailand Industry Expo 2019 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ IoT มาช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ

ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวจะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเครื่องจักร การนำของเสียจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ จนถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดการใช้พลังงาน และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักการ Circular Economy ซึ่งเป็นแนวทางธุรกิจในระดับสากลเพื่อให้อุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ความยั่งยืน สอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0

- Advertisment -

ทั้งนี้ จะนำร่องในกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกและอาหาร ให้ได้รับการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากหน่วยงานพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น การเชื่อมโยงกับโครงการ “Big Brothers พี่ช่วยน้อง” ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีเป้าหมายสนับสนุน SMEs ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขัน การประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีร่วมกับการบริหารจัดการแบบลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Lean Management for Environment) เพื่อลดการสูญเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตและบริการที่ครอบคลุมทั้งการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และความปลอดภัย เป็นต้น

นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินโครงการในปีที่ 8 นี้ ได้เพิ่มเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปด้วย โดยภาคีเครือข่าย เช่น สถาบันพลาสติก จะทยอยปรับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยระบบ IoT (Internet of Things) อุปกรณ์เซนเซอร์ต่าง ๆ และระบบอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักร ซึ่งขณะนี้จะเน้นอุตสาหกรรมอาหารและพลาสติก เพื่อช่วยลดความสูญเสียในระบบการผลิต

โดยตลอดการดำเนินงาน 7 ปีที่ผ่านมา พบว่าสถานประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 40 แห่ง มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้นร้อยละ 35-40 และยังเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและพนักงาน เนื่องจากระบบการผลิตดีขึ้น ความสูญเสียน้อยลง ทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณ 1.5 ล้านกิโลกรัม คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 1.5 แสนต้น ลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนด้านพลังงานได้ถึง 144 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ชุมชนโดยรอบมีความเป็นอยู่ที่ดีจากสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นกว่า 9.22 แสนคน ซึ่งเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนตามกระแสโลก ช่วยให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืนและขยายตลาดสู่ประเทศอื่น ๆ ได้มากขึ้น

ภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

“ตอนนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องการผลิตที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้งได้ ไม่ใช่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่จะต้องนำมาเป็น raw material เพิ่มขึ้นได้ต่อไป ซึ่งเป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน จากแต่ก่อนที่จะเป็นเศรษฐกิจแบบแนวราบ คือผลิตแล้วใช้และก็ทิ้งไป ซึ่งเมื่ออุตสาหกรรมรายกลางและรายย่อยเข้าร่วมโครงการฯ จะช่วยให้ได้เรียนรู้วิธีการทำธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการนำหลักการด้าน database และคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ โดย กสอ. และ ดาว มีทั้งทรัพยากร ระบบของที่ปรึกษา และระบบ Resource ที่จะนำเข้าไปช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถปรับตัวให้เข้ากับอุตสาหกรรม 4.0 ได้ในอนาคต” นางภรณี กล่าว

สำหรับ SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวสามารถติดต่อมาได้ที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญเข้าประเมินและวิเคราะห์เครื่องจักรในโรงงาน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยให้เครื่องจักรในสายการผลิตรายงานคุณภาพของการทำงานได้อย่างเป็นระบบเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิต และให้คำแนะนำ รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพนักงาน เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรให้เกิดความเชี่ยวชาญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัย โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินงานรวมประมาณ 2 ปี ที่จะให้คำแนะนำเชิงลึกและปรับกระบวนการผลิตแก่สถานประกอบการ วางเป้าหมายจะมี SMEs เข้าร่วมโครงการในปีที่ 8 เบื้องต้นประมาณ 20 แห่ง เมื่อพัฒนาเป็นคู่มืออุตสาหกรรม 4.0 ที่ชัดเจนแล้วจะพิจารณาขยายผลไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป

ด้าน นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวให้การช่วยเหลือ SMEs ตั้งแต่เรื่องของการ Lean หรือลดต้นทุนการผลิต และความยั่งยืนตามแนวทาง Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ซึ่งในปีที่ 8 จะร่วมมือกันพัฒนาแนวทางการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรม 4.0 โดยนำดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของ SMEs เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมทั้งยังนำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาปรับใช้ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) อย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องมีกระบวนการตั้งแต่ขั้นการออกแบบ (Design) ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความคงทนและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ การใช้เทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนการรีไซเคิล โดยตั้งเป้าหมายจะสามารถต่อยอดพัฒนาผู้ประกอบการตามแนวทางนี้ให้ได้ 10,000 ราย ภายใน 2-3 ปีจากนี้ จากปัจจุบันที่มี SMEs เป็นเครือข่ายแล้วประมาณ 5,000 ราย

นอกจากนี้ ในวันเปิดตัวโครงการฯ ยังมีการจัดเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กับอุตสาหกรรมไทย 4.0” โดยนายประทรรศน์ สูตะบุตร รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า วิสัยทัศน์ (Vision) ของ ดาว คือในปี 2030 ผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้ง 100% จะต้องสามารถรีไซเคิล หรืออย่างน้อยต้องนำกลับมาเป็น Raw Material หรือนำมาเป็นพลังงานได้ ซึ่งแม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายแต่จะต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้

ประทรรศน์ สูตะบุตร รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

ส่วนแนวทางป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมตามหลัก Circular Economy คือ 1. การมีนวัตกรรมที่จะทำให้เกิดการใช้ซ้ำได้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเกิดการหมุนเวียนในการใช้ 2. การให้ Solution แก่สังคม ซึ่งต้องใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช่เพียงด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะต้องออกแบบให้สามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น แต่หากผลิตภัณฑ์ใดที่รีไซเคิลยาก หรือรีไซเคิลแล้วคุณภาพลดลง ทาง ดาว ก็มีนวัตกรรมที่จะสามารถช่วยให้กระบวนการรีไซเคิลนั้นทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 3. การร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของการจัดเก็บขยะ เพื่อทำให้ขยะกลับเข้าสู่ระบบไม่หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม 4. การส่งเสริมให้มีธุรกิจรีไซเคิลมากขึ้น เพื่อให้เกิดการซื้อขายอย่างเสรี สามารถควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ทำให้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และ 5. การสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อเปลี่ยนขยะที่เป็นปัญหาของประเทศให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของชาติได้

 

Advertisment