ดาว ประเทศไทย จับมือ 4 พันธมิตร นำร่องโครงการสร้างถนนที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติก

910
- Advertisment-

กลุ่ม บริษัท ดาว ประเทศไทย จับมือ 4 หน่วยงานรัฐและเอกชน ศึกษาโครงการสร้างถนนที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติก เพื่อการจัดการขยะอย่างถูกวิธีและช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย วางแผนนำร่องในพื้นที่ จ.ระยองก่อน และหากผลศึกษาสำเร็จ จะขยายไปสู่การทำถนนที่ได้มาตรฐานในประเทศต่อไป เบื้องต้นพบว่าไม่ทำให้ต้นทุนก่อสร้างถนนเพิ่มขึ้น

วันนี้ (7 ต.ค. 2563) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ลงนามความร่วมมือกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ เอสซีจี กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อศึกษาและนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับการสร้างถนน เพื่อให้เป็นมาตรฐานใหม่ในการทำถนนของประเทศ และเป็นการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี

- Advertisment -

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า จากการทดลองทำถนนที่ผ่านมาในโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลในหลายประเทศของกลุ่มดาว เช่น ในสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ระยะทางรวมราว 90 กิโลเมตร พบว่า ถนนมีความแข็งแรงขึ้นมากกว่า 15% เมื่อเทียบกับถนนยางมะตอย เนื่องจากพลาสติกจะไปช่วยเคลือบเม็ดกรวดทำให้ลดการหลุดร่อนของถนนได้ โดยโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ผ่านมาช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกกว่า 50 ล้านถุง

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กลุ่มบริษัท ดาวฯ จะช่วยในด้านเทคโนโลยีการนำพลาสติกมาผสมทำถนน ส่วนกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวง จะทำหน้าที่สร้างถนนนำร่องจากพลาสติกรีไซเคิลดังกล่าว ทั้งนี้ การทำถนน 1 กิโลเมตร จะใช้พลาสติกรีไซเคิลประมาณ 3 ตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะพลาสติกของประเทศไทยได้

ทั้งนี้ การลงนามร่วมกันในบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้มีการศึกษาและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่จะสร้างมาตรฐานในการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนในอนาคต ที่สามารถลดปริมาณการใช้แอสฟัลต์และสามารถนำขยะพลาสติกนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) ในโครงการก่อสร้างถนน เป็นการสร้างคุณค่าให้กับขยะพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่ไม่มีราคาได้อย่างคุ้มค่า ช่วยลดขยะพลาสติกตกค้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทั้งยังช่วยเสริมสร้างวิสาหกิจชุมชนในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง BCG (Bio – Circular – Green Economy) ที่เป็นการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมนำขยะพลาสติกมาทำถนนโดยนำองค์ความรู้โครงการที่เอกชนได้ทำไว้มาปรับใช้กับถนนของรัฐ ดังนั้นเบื้องต้นกรมทางหลวงอาจทดลองทำถนนระยะทาง 500 เมตร แต่ยังไม่กำหนดพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลประมาณ 1 ปี ทั้งด้านมลภาวะ ความคงทนแข็งแรง การลดปัญหาขยะ เป็นต้น และจากการหารือเบื้องต้นพบว่าการนำขยะมาผสมทำถนนจะไม่ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างแพงขึ้น เนื่องจากขยะพลาสติกจะมาช่วยลดส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตลงได้ และทำการผสมเพียง 6-10% ในการทำถนนปกติเท่านั้น ทั้งนี้ หากผลการทดลองพบว่าประสิทธิภาพถนนสูงขึ้น จะขยายผลไปสู่ถนนอื่นๆต่อไปในอนาคต

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 นี้ กรมฯ จะทดลองนำร่องทำถนนผสมขยะพลาสติกในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและมีขยะพลาสติกเพียงพอต่อการทดลองทำถนนในระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้ขยะพลาสติกจำนวน 3 ตัน หรือเทียบเท่าถุงพลาสติกถึง 9 แสนใบ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เห็นถึงประโยชน์ในการนำประสบการณ์และองค์ความรู้ในการทำถนนจากพลาสติกรีไซเคิลของเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มาต่อยอดพัฒนาโครงการนี้ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเอสซีจีจะให้คำปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการจัดหาเศษพลาสติกเหลือใช้ อาทิ ชนิดและคุณภาพ รวมทั้งวิธีการแปรรูป อาทิ การล้าง บดย่อย และบรรจุ เพื่อให้พร้อมต่อการใช้งาน และยังจะเดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อให้สามารถนำขยะพลาสติกจากองค์กรและชุมชนมาใช้ประโยชน์ในโครงนี้ได้ โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถผลักดันโครงการดังกล่าวไปสู่การเป็นมาตรฐานการทำถนนของภาครัฐ เพื่อใช้งานจริงในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้ต่อไป

ด้านศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า  การนำขยะพลาสติกมาผสมทำถนนจะช่วยลดต้นทุนแอสฟัลต์ได้ 20% จากการสร้างถนนปกติ โดยการผสมขยะพลาสติกเฉลี่ยจะผสมประมาณ 8-10% เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าระยะยาวจะช่วยลดต้นทุนให้ภาครัฐได้หลายหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ริเริ่มโครงการนำขยะพลาสติกที่เหลือจากโรงคัดแยกขยะต้นแบบของมหาวิทยาลัย มาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตแอสฟัลต์คอนกรีต เพื่อการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงข่ายถนนในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้ลงทุนในส่วนของห้องปฏิบัติการและโรงงานผลผลิตไปบางส่วนแล้วด้วย ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนในด้านวิชาการและทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจะส่งเสริมและผลักดันให้เกิดมาตรฐานถนนใหม่ที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติก สำหรับประเทศไทยต่อไป

Advertisment