ซีอีโอปตท.ยัน GPSC เข้าซื้อกิจการGLOWเพื่อความมั่นคงไฟฟ้าของลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม

197
- Advertisment-

ซีอีโอ ปตท.ชี้กรณีบริษัท GPSC เข้าซื้อกิจการ GLOW ยังรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)พิจารณาอนุมัติ  ยืนยันเหตุผลต้องการสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุดและรองรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ในอนาคต  ในขณะที่เตรียมคัดเลือกพันธมิตร  ยื่นซองเข้าร่วมประมูล  โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  พ.ย. 2561 นี้  

จากกรณีนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 เกี่ยวกับกรณีที่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. เตรียมเข้าซื้อกิจการบริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน) หรือGLOW ว่า เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด โดยใช้ความได้เปรียบจากความเป็นรัฐวิสาหกิจแข่งขันโดยตรงกับเอกชนรายย่อย นั้น

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า  ยังต้องรอขั้นตอน  ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)พิจารณาอนุมัติ โดยยืนยันว่า การเข้าซื้อกิจการ GLOW ไม่ได้ทำให้กลุ่มปตท.มีอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจผลิตไฟฟ้า  โดยปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ 1,900 เมกะวัตต์ และหากซื้อกิจการของ GLOW ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้กำลังการผลิตของ GPSC เพิ่มเป็นประมาณเกือบ  5,000 เมกะวัตต์ เท่านั้น  โดยจัดเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอันดับที่ 5 ของประเทศ  ในขณะที่ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 30,000-40,000 เมกะวัตต์

- Advertisment -

นอกจากนี้ GPSC และ GLOWยัง เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นหลัก  มีไฟฟ้าที่เหลือขายเข้าระบบไฟฟ้าน้อยมาก ดังนั้นการรวมกิจการเข้าด้วยกันจะยิ่งทำให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเกิดความมั่นคงไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องพึ่งพาไฟฟ้าที่มีความมั่นคงสูง หากเกิดกรณีไฟฟ้าตกและดับ จะสร้างความเสียหายต่อกระบวนการผลิตอย่างมาก  นอกจากนี้  ยังเป็นการรองรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย

นายชาญศิลป์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลว่าการขยายกิจการร้านกาแฟอเมซอนเป็นการทำลายธุรกิจร้านกาแฟของรายย่อย นั้น ยืนยันว่า ธุรกิจกาแฟอเมซอน ของปตท. มีการดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้ว ในลักษณะของแฟรนไซส์  ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นการลงทุนโดยผู้ประกอบการรายย่อย  โดย เป้าหมายของการทำธุรกิจ ไม่ได้มุ่งที่จะขยายตลาดลงไปแข่งขันกับผู้ประกอบการในตลาดระดับล่าง  แต่มุ่งที่จะขยายสาขาแข่งกับแบรนด์ใหญ่ของต่างประเทศที่มาชยายสาขาในประเทศไทย รรวมทั้งการขยายตลาดไปยังต่างประเทศเป็นหลัก

ส่วนกรณีการเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)นั้น ขณะนี้ ปตท.ได้คัดเลือกพันธมิตรจาก 10 ราย เหลือ 2 รายแล้ว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟฟ้าทั้งรถไฟฟ้ายกระดับและรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งในการเข้ายื่นซองประมูล ในเดือนพ.ย. 2561 นี้ ทาง ปตท.มอบหมายให้  บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) เป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปการประมูลช่วงไตรมาส1หรือไตรมาส 2 ปี 2562  และจะใช้เวลาก่อสร้าง 5-7 ปี  ดังนั้นในช่วงแรกจะยังไม่มีรายได้  แต่ยืนยันว่า โครงการขนาดใหญ่ที่ปตท.เข้าไปร่วมลงทุน ถึงแม้จะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลแต่จะต้องเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทน ที่คุ้มค่าการลงทุน

ทั้งนี้การเข้าร่วมประมูลในโครงการดังกล่าว เนื่องจากบอร์ดปตท. มองว่า เป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากรถไฟฟ้าความเร็วสูงครอบคลุม 3 พื้นที่ คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ ปตท.มีทรัพย์สินและการลงทุน ในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก ทั้งธุรกิจปิโตรเคมี โรงกลั่น และท่อก๊าซธรรมชาติ ท่อขนส่งน้ำมัน  เป็นต้น  ดังนั้น หากมีการบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับปตท.ในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง  ก็จะยิ่งทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

Advertisment