ซีอีโอบางจาก เปิดแผน4ปีข้างหน้า ทุ่มเงินลงทุนกว่า77,000ล้านบาทขยาย4กลุ่มธุรกิจ

780
- Advertisment-

ซีอีโอบางจาก เปิดแผนธุรกิจในสี่ปีข้างหน้า(2562-2565) ใช้เงินลงทุนกว่า77,000 ล้านบาท ขยาย 4 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน กลุ่มธุรกิจการตลาด กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดยตั้งเป้ามีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม EBITDA โตขึ้น 2 เท่า มากกว่า30,000 ล้านบาท ในปี 2566

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนธุรกิจใน 4 ปีข้างหน้า (2562-2565) ว่า บริษัท บางจากฯ มีแผนลงทุน 77,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และธุรกิจต้นน้ำ ใน4กลุ่ม ประกอบด้วย ธุรกิจโรงกลั่น ธุรกิจการตลาด ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ  โดยตั้งเป้ามีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม EBITDA โตขึ้น 2 เท่า คือ มากกว่า 30,000 ล้านบาท ในปี 2566 ซึ่งจะเป็นการเติบโตอย่างเท่าตัวอีกครั้งหนึ่ง จากที่บางจากฯ เคยมี EBITDA กว่า 7,000 ล้านบาทในปี 2555 และเพิ่มเป็นประมาณ 14,000 ล้านบาทในปี 2560 ภายใต้การขยายการลงทุนในธุรกิจสีเขียว

โดยในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มีแผนยกระดับเพิ่มกำลังการกลั่นให้ได้ถึง 135,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2563 จากปัจจุบัน ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 120,000 บาร์เรลต่อวันควบคู่กับการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่น YES-R Project และโครงการ 3E (Efficiency, Energy, and Environment Improvement) รวมทั้งลดการใช้พลังงานเพื่อมุ่งมั่นเป็นโรงกลั่นสีเขียวที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมขยายธุรกิจ Trading ทั้งการซื้อขายน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เชื้อเพลิงชีวภาพและแร่ลิเทียม ซึ่งมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นในอนาคต

- Advertisment -

กลุ่มธุรกิจการตลาด ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็นร้อยละ 18 โดยมีแผนจะเพิ่มสัดส่วน EBITDA จากการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ร้อยละ 10 และเพิ่มสัดส่วนรายได้ในธุรกิจ Non-oil และ Lube เป็นร้อยละ 30 ในปี 2565 พร้อมก้าวสู่อันดับ 1 ในใจของผู้ใช้บริการจากดัชนีชี้วัดความพึงพอใจของลูกค้า หรือ Net Promoter Score: NPS

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งมีกำลังการผลิตไบโอดีเซลและเอทานอลรวม 1.8 ล้านลิตรต่อวัน ถือเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก็จะมีการจัดตั้ง Bio Hub ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้ยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ทั้งด้านไบโอพลาสติก วัสดุชีวภาพ น้ำตาล Generation ที่ 2 และโปรตีนชีวภาพ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพ

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ จะขยายการลงทุนในธุรกิจต้นน้ำที่บริหารโดยบริษัท OKEA ประเทศนอร์เวย์ กำลังการผลิต 25,000 บาร์เรลต่อวัน คาดว่าจะมี EBITDA จากการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมทั้งแสวงหาแหล่งน้ำมันดิบและพลังงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้บริษัท บางจากฯ นั้นถือหุ้นเป็นอันดับ 2 ใน Lithium Americas Corp. ซึ่งมีกำลังการผลิตในเฟสที่ 1 ปริมาณ 25,000 ตันต่อปี และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 50,000 ตันต่อปี  โดย บริษัท บางจากฯ ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่าย หรือนำไปป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมตามแผนการลงทุนของบริษัท ทั้งนี้ ปริมาณแร่ลิเทียมดังกล่าวเพียงพอสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้จำนวน 62,500 คันต่อปี

นอกจากนี้ บางจากยังจะมีการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เช่น การพัฒนากระบวนการซ่อมบำรุงโรงกลั่นและการบริหารจัดการการขนส่งน้ำมัน และใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) วิเคราะห์ข้อมูลจากระบบเก็บฐานข้อมูล (Big Data) มาพัฒนางานบริการและบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า สร้าง Brand Loyalty และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการบริการนอกจากนี้ เพื่อลดผลกระทบจากความพลิกผันของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ หรือ BiiC  จะมุ่งพัฒนานวัตกรรมโดยมีแผนจัดทำ Corporate Venture Capital (CVC) และการวิจัยพัฒนา เพื่อการลงทุนใน Startup ของบริษัท สร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยลงทุนในธุรกิจหลักของบริษัทฯ ร้อยละ 60 ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ร้อยละ 30 และเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจ ร้อยละ 10 พร้อมตั้งเป้าที่จะจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา (IP) อย่างน้อย 2 รายการ

ส่วนในด้านของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัท บางจากฯ ให้ความสำคัญในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ผ่านการลงทุนของบริษัท BCPG และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไบโอพลาสติก โดยใช้พืชเกษตรกรรมของไทยมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต (Feedstock) ผ่านการดำเนินงานของบริษัท BBGI เพื่อลดขยะพลาสติก (Plastic Waste) และช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำของสินค้าภาคเกษตรกรรมของไทยอีกด้วย

Advertisment