ชุมชนวังหว้า ดังทั่วโลก National Geographic ยกเป็นต้นแบบจัดการขยะอย่างยั่งยืน

9534
- Advertisment-

วังหว้า ชุมชนในจังหวัดระยอง ดังไกลทั่วโลก หลัง National Geographic นำเสนอเรื่องราวในฐานะชุมชนต้นแบบที่นำขยะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร นำไปสู่การจัดการขยะแบบยั่งยืน และสร้างสวัสดิการมากมายให้คนในชุมชนในการแปลงขยะไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดี นับเป็นแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายๆ คนที่คิดจะเริ่มทำให้โลกเราดีขึ้น

บริษัท ดาว (DOW) ภายใต้โครงการ PPP Plastics ร่วมสนับสนุนชุมชนวังหว้าและจังหวัดระยองสร้างเมืองสะอาด เพื่อความสุขชาวระยองทุกคน และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ

ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC ขอถือโอกาสนี้ ถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จของชุมชนวังหว้า จาก National Geographic เพื่อสะท้อนมุมมองของสื่อนอกต่อภารกิจการจัดการขยะของชุมชนต้นแบบของไทย 

- Advertisment -

*** อ่านบทความต้นฉบับของ National Geographic จากลิงก์นี้ https://www.nationalgeographic.com/partner-content-dow-transforming-plastic-waste-into-value/?cmpid=org%3Dngp%3A%3Amc%3Dps%3A%3Asrc%3Dfacebook%3A%3Acmp%3Dsp_dow%3A%3Aadd%3Dfbp20191120sp_dow%3A%3Arid%3D&kwp_0=1476399


หากมองย้อน ไปเมื่อ 6 ปีก่อน สมาชิกราว 500 ครอบครัวของชุมชนวังหว้า ใน จ. ระยอง ต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางกองขยะที่มีแต่จะกองทับถมสูงขึ้นๆ ทั้งสกปรกและเหม็นเน่า และเมื่อขาดการจัดการที่ดี สุขภาพของผู้อยู่อาศัยก็ย่ำแย่ อากาศเป็นพิษ เด็กๆ ในชุมชนก็เจ็บป่วย

ให้ลองนึกภาพสุนัขและหนูคุ้ยเขี่ยขยะ ผู้คนที่พยายามย้ายไปอยู่ที่อื่นเพื่อหนีจากกองขยะที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

จนวันหนึ่ง ผู้นำชุมชนลุกขึ้นบอกว่า “พอแล้ว” กับสภาพอย่างนั้น

“สายัณห์ รุ่งเรือง” ผู้นำชุมชน ได้นำกรรมการชุมชนค้นหาวิธีกำจัดขยะเพื่อให้ชุมชนแห่งนี้อยู่รอดให้ได้

ขั้นตอนแรก เขาขอให้ลูกบ้านคัดแยกขยะอินทรีย์ออกมา ซึ่งไม่นาน ชุมชนก็มีขยะอินทรีย์ถึง 18 ตัน ที่นำไปใช้เลี้ยงสัตว์และทำปุ๋ยได้

สายัณห์เล่าให้ฟังว่า “ผมเริ่มงานจากการไปเคาะประตูบ้านทุกบ้าน จนได้แนวร่วมมา 50 บ้าน ผมหาความรู้เรื่องการบริหารและคัดแยกขยะด้วยตัวเองแล้วเอาความรู้นั้นมาบอกต่อกับอาสาสมัคร

สายัณห์ จัดให้มีกระบวนการให้ความรู้กับครู โรงเรียน และการแนะนำไปทีละบ้าน การลงมือปฏิบัติ ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีความรู้และลงมือทำ ไม่นานทุกบ้านก็เริ่มคัดและเก็บขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ และนำมาขายที่ศูนย์รับซื้อทุกเดือน

ในปี พ.ศ.2561 มีการเปิดตัวโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastic PPP เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมโดยได้รับเงินทุนและการสนับสนุนอื่นๆจากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (DOW) และบริษัทชั้นนำอื่นๆ โดยมีการจัดอบรมเรื่องการคัดแยกขยะพลาสติกประเภทต่างๆ และโครงการได้สร้างเครือข่ายที่มีทั้งองค์การบริหารในท้องถิ่น ชุมชน และธุรกิจรีไซเคิล

จนชาวบ้านในวังหว้ามีมุมมองใหม่ที่ว่าพลาสติกมีค่าเกินกว่าที่เราจะทิ้งไปเฉยๆ

ในแต่ละปีวังหว้าสร้างขยะถึง 66,000 กิโลกรัม แต่ตอนนี้ 45% ของขยะพลาสติกทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และที่เหลือเอาไปทำเป็นเชื้อเพลิง ช่วงก่อนปีนี้ ปริมาณขยะพลาสติกที่นำไปฝังกลบลดลง 20% และโครงการมุ่งหวังที่จะไม่ให้มีการฝังกลบขยะพลาสติกอีกเลยในปี พ.ศ.2565 ซึ่งนอกจากลดขยะแล้ว โครงการยังทำให้เกิดการสร้างงานถึง 13 ตำแหน่ง

  

ความมุ่งมั่นและการทำงานเป็นทีมของผู้นำชุมชนได้กระตุ้นให้คนทั้งชุมชนเข้าร่วมโครงการ บางคนคัดแยกขยะพลาสติกเป็นอาชีพ บางคนสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิลและนำไปขาย กำไรที่ได้จากโครงการถูกนำมาติดตั้ง WiFi ฟรีให้กับชุมชน กลายมาเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียน และเงินอุดหนุนให้ผู้สูงอายุ และปัจจุบัน วังหว้ากลายเป็นต้นแบบในการจัดการขยะเนื่องจากสามารถทำให้สุขอนามัยของชุมชนและคุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น ทำให้มีคนจากทั่วประเทศมาศึกษาดูงาน

จากชุมชนที่เกือบจะจมอยู่ในกองขยะ  ตอนนี้วังหว้ากลายมาเป็นแบบอย่างที่น่าสนใจ และสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนหรือคนอื่นๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

 

Advertisment