เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชี้แหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันของไทยกับกัมพูชา ( Overlapping Claims Area หรือ OCA ) จะเป็นทางออกของไทยในการแก้ปัญหาไฟฟ้าราคาแพงในระยะยาว โดยต้องเร่งพัฒนาเพื่อนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในช่วง Energy Transition ที่เชื้อเพลิงฟอสซิลยังมีความสำคัญ
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในระยะยาวว่า การเร่งพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ของไทยกับกัมพูชา ( Overlapping Claims Area หรือ OCA ) จะเป็นทางออกที่ช่วยให้ราคาพลังงานในประเทศถูกลงได้ในระยะยาว เพราะก๊าซธรรมชาติซึ่งยังเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในการผลิตไฟฟ้า หากพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้จากแหล่งในประเทศและพื้นที่ OCA จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าราคา LNG นำเข้า
อย่างไรก็ตามการเจรจาเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา หากได้ข้อสรุปวันนี้ อีกประมาณ 10 ปีจึงจะได้ใช้ก๊าซฯ ดังนั้นหากสามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานในอ่าวไทย(แท่นผลิตและระบบท่อส่งก๊าซฯ) ที่มีพร้อมอยู่แล้ว และนำขึ้นมาใช้ในช่วง Energy Transition ที่เชื้อเพลิงฟอสซิลยังมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC )รายงานว่า การเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐา ที่แถลงต่อรัฐสภา อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลทำงานมาครบ 1 ปี ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในเรื่องดังกล่าว โดยยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ( Joint Technical Committee – JTC ) ฝ่ายไทยชุดใหม่ เพื่อเป็นกลไกในการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา ตามข้อตกลงที่มีการทำเอ็มโอยูกันไว้เมื่อปี 2544
โดยพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มีขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของไทยมีการประเมินว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะสำรวจพบปิโตรเลียม เพราะอยู่ในโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ ที่เรียกว่าแอ่งปัตตานี เช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ ปลาทอง ไพลิน ฟูนัน บรรพต ในอ่าวไทยที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์มาจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน 50 ปี และยังมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่
ที่ผ่านมาทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ถึงประโยชน์ 6 ข้อที่ประเทศไทยจะได้รับหากสามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบด้วย 1. รายได้จากค่าภาคหลวง Profit Sharing และภาษีเมื่อมีการผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาใช้ประโยชน์ 2. การได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศที่จะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าปิโตรเลียม 3. การสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงาน และเสถียรภาพด้านราคาที่จะส่งผลดีต่อราคาพลังงานของผู้บริโภคในประเทศ 4. การสร้างเศรษฐกิจกับอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและกิจกรรมสนับสนุนไปตลอด Value Chain 5. การดึงดูดการลงทุน Direct Investment จากบริษัทพลังงานและอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง 6. การเพิ่มการจ้างงานที่มีทักษะฝีมือให้กับคนไทย
ทั้งนี้ก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน จากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่เชื้อเพลิงทดแทนอื่นๆ ที่สะอาดกว่า ที่มีระยะเวลาเหลืออีกประมาณ 30 ปี เท่านั้น