ชี้รัฐ กดค่าไฟ 4.20 บาทต่อหน่วย กฟผ.หวั่นขาดสภาพคล่องต้นปี 67 เสนอ กพช.วางนโยบายช่วยเหลือที่ชัดเจน

749
ขอขอบคุณภาพจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
- Advertisment-

เปิดข้อมูล กฟผ. หากรัฐบาลสั่งตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.20 บาทต่อหน่วยจากที่ควรจะปรับขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย จะทำให้  กฟผ. มีค่า Ft ค้างรับทั้งปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 137,000 ล้านบาท  ส่งผลให้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ในช่วงต้นปี 2567 โดยเสนอมาตรการแบ่งเบาภาระช่วย กฟผ.เช่น การปรับลดค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ  การนำเงินงบประมาณ หรือ งบกลาง มาช่วยชดเชยส่วนลดราคาค่าไฟฟ้าตามนโยบายของภาครัฐ และการให้โรงไฟฟ้าเอกชนขยายระยะเวลา ในการชำระค่าไฟฟ้าออกไป โดยไม่มีดอกเบี้ยหรือค่าปรับ  เพื่อช่วยเหลือประชาชน  ชี้การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ควรวางนโยบายในการรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชน ของ กฟผ.ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และกระทบต่อเครดิตเรทติ้งของประเทศ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC ) รายงานอัพเดทข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ถึงนโยบายการสั่งให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้า ในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรหรือ ค่าFt สำหรับงวดเดือน  มกราคม-เมษายน 2567 เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้น เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้าคือ เดือน กันยายน-ธันวาคม 2566 ที่อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ที่เป็นอัตราตามนโยบายรัฐบาลที่ไม่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงเช่นเดียวกัน ว่า  ปัจจุบัน กฟผ. ต้องมีภาระค่า Ft ค้างรับ (ตามนโยบายภาครัฐ และประกาศของ กกพ.) จำนวนประมาณ 95,777 ล้านบาท และมีเงินกู้เสริมสภาพคล่องคงเหลือที่จะต้องชำระอีก 82,000 ล้านบาท

โดยนโยบายรัฐบาลผ่านมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ( กพช.) และ ครม. ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่ปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง เฉลี่ยอยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย จะทำให้ กฟผ. ต้องรับภาระค่า Ft ค้างรับสะสม งวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นอีก  ซึ่งภาระค่า Ft ค้างรับทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 137,000 ล้านบาท  และจะทำให้ กฟผ. มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ในช่วงต้นปี 2567

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม เพื่อแบ่งเบาภาระปัญหาสภาพคล่องของ กฟผ. รัฐบาลควรมีนโยบายเพิ่มเติมหากต้องการที่จะตรึงราคาค่าไฟฟ้าให้อยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย เช่น

– การทำให้ค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติลดลง โดยให้ ปตท. ร่วมรับภาระค่าเชื้อเพลิงด้วย และให้ประชาชนจ่ายคืนในภายหลัง

– การนำเงินงบประมาณ หรือ งบกลาง มาช่วยชดเชยส่วนลดราคาค่าไฟฟ้าตามนโยบายของภาครัฐ

– การขอความร่วมมือให้โรงไฟฟ้าเอกชนขยายระยะเวลา ในการชำระค่าไฟฟ้า ของ กฟผ.ออกไป โดยไม่มีดอกเบี้ยหรือค่าปรับ  เพื่อช่วยเหลือประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ข้อเสนอของ กฟผ.ยังระบุถึงความสำคัญของเรื่องไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคหลักของประเทศ  ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาการรับภาระแทนประชาชนของ กฟผ.ในระยะยาว ภาครัฐควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ว่า จะให้ กฟผ.แบกรับภาระแทนประชาชนอย่างไรโดยที่ไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเครดิตเรทติ้งของประเทศ

ทั้งนี้ การตรึงราคาค่าไฟฟ้าครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว เป็นเพียงการชะลอการชำระค่าไฟฟ้าของประชาชนออกไปก่อน  ประชาชนยังต้องจ่ายคืนค่าไฟฟ้าส่วนนี้ในภายหลัง ทั้งนี้หาก กฟผ. จะต้องกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อรักษาสภาพคล่อง และเกิดภาระดอกเบี้ยขึ้นมา ดอกเบี้ยส่วนนี้ ก็ส่งผ่านไปที่ค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงยิ่งขึ้นไปอีก

Advertisment