ชี้รัฐหยุดรับซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียน 8ปี ทำธุรกิจหยุดชะงักจ่อยื่นฟ้องศาลปกครอง

5103
- Advertisment-

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน ให้ทบทวนร่างแผนPDPฉบับใหม่ ก่อนเสนอ กพช. ระบุการชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยาวถึง 8 ปี จะส่งผลให้ธุรกิจพลังงานภาคเอกชนหยุดชะงัก และไม่มั่นใจกรณีเปิดให้ซื้อขายกันเองจะทำได้จริงในทางปฏิบัติ
 
นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงพลังงานมีนโยบายชะลอการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8 ปี นับจากปี 2562 จนถึงปี2569ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศฉบับใหม่ หรือPDP2018 ว่า เบื้องต้นได้ทราบว่ามีสมาคมบางแห่งที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานงานหมุนเวียน เตรียมจะฟ้องร้องกระทรวงพลังงาน ต่อศาลปกครอง กรณีการหยุดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8 ปี เนื่องจากจะส่งผลให้ธุรกิจของผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนหยุดชะงักเป็นเวลานาน

โดยแม้ทางกระทรวงพลังงานจะระบุว่าจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกันเองได้ ในช่วงที่รัฐยังไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบนั้น ช่วยให้เอกชนเกิดความสบายใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งก็ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถจะเกิดการซื้อขายกันเองได้จริงเนื่องจากไม่ได้มีการระบุเอาไว้ในแผน PDP ฉบับใหม่

ทั้งนี้โดยส่วนตัวเห็นว่า การหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นเวลาถึง 8 ปี จะไม่ก่อประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจประเทศ เพราะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลนั้น ในส่วนของค่าเชื้อเพลิงจะทำให้ไทยต้องเสียเงินตราออกนอกประเทศ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลวหรือLNG  แต่หากรัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะช่วยให้เกิดภาวะเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นในประเทศแทน  เพราะเชื้อเพลิงนั้นสามารถจัดหาได้ในประเทศ

- Advertisment -

ปัจจุบันเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโซลาร์เซลล์มีราคาลดลงมากและถูกกว่าพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งเป็นผลดีต่อราคาไฟฟ้ารวมของประเทศ โดยรัฐสามารถเปิดให้ประมูลแข่งขันขายไฟฟ้าได้  และหากพบว่าประมูลแล้วราคายังแพงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ยังไม่จำเป็นต้องซื้อ แต่รัฐควรจะเปิดโอกาสเอาไว้เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ ไม่ใช่หยุดการรับซื้อแบบนี้

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงพลังงานขอให้ทบทวนแผน PDP  ฉบับใหม่อีกครั้งก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะหลังจากกระทรวงพลังงานเปิดรับฟังความเห็นร่างแผน PDP ดังกล่าวพบว่า สมมติฐานหลายอย่างที่กำหนดในร่างแผนดังกล่าวยังไม่ถูกต้องไม่สอดคล้องตามเหตุและผล จึงอยากให้กระทรวงพลังงานกลับไปตรวจสอบสมมติฐานต่างๆ อีกครั้งให้รอบคอบก่อน และไม่ควรเร่งนำเสนอ กพช.

Advertisment