จังหวัดน่าน ร่วมกับ กฟผ. และพันธมิตร จับมือเดินหน้า “น่าน Light Up & Smart City” ติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างสำหรับแหล่งท่องเที่ยวในเขตเมืองเก่า ประเดิมที่วัดมิ่งเมือง วัดศรีพันต้น วัดสวนตาล และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน พร้อมบริการยานพาหนะไร้มลพิษ ทั้งรถรางระบบไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า และ EV Charger คาดลดใช้พลังงานได้กว่า 4,600 หน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซ CO2 กว่า 6 ตัน CO2 ต่อปี สร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวบ้านในพื้นที่ 1.7 ล้านบาทต่อปี
วานนี้ (28 พฤษภาคม 2566) นายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว “น่าน Light Up & Smart City” ระหว่างนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองน่าน จ.น่าน
นายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า จ.น่าน มุ่งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ และพัฒนาจังหวัดให้เป็น “เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์และยั่งยืน” เพื่อรองรับและบริการนักท่องเที่ยว เนื่องด้วยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางในฝันที่ยังคงไว้ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สุขภาพ เกษตร ตลอดจนการท่องเที่ยวโดยชุมชน ปัจจุบัน ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันขับเคลื่อน จ.น่าน สู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UCCN) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) นำไปสู่เมืองที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจหรืออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ร่วมกับสมาชิกทั่วโลก การดำเนินโครงการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวนี้ ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตลอดจนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของ จ.น่าน ที่มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย
นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวเสริมว่า เทศบาลเมืองน่านได้พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวใน 7 มิติ คือ เมืองสะอาด เมืองสิ่งแวดล้อมที่ดี เมืองปลอดภัย เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม เมืองแห่งสังคมคุณภาพธรรมาภิบาล เมืองแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจ และเมืองอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “เมืองน่านน่าอยู่” และให้สามารถรองรับการขยายตัวและเสริมสร้างความยั่งยืนของเมืองในอนาคต ซึ่งพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองน่าน ได้รับการประกาศเป็นเขตเมืองเก่าน่าน เนื่องจากมีภูมิทัศน์ที่มีคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสถาปัตยกรรม จึงได้มีการปรับภูมิทัศน์เมือง จัดสร้างรั้วเตี้ยให้มองเห็นความงดงาม นำสายไฟฟ้าสายสื่อสารลงดิน และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจัดให้มีรถรางชมเมืองในเวลากลางวัน และถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่านในเวลากลางคืน ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ เทศบาลเมืองน่านยังร่วมมือกับนักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดลองออกแบบแสงสว่าง รวมถึงทดลองวิ่งรถรางในเวลากลางคืน และร่วมกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ปรับปรุงภูมิทัศน์ข่วงเมืองน่าน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน ได้ขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด “เมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ Nan Municipality to Smart City” โดยร่วมมือกับ กฟผ. และหน่วยงานพันธมิตร พัฒนาเมืองน่านเป็นเมืองน่าอยู่ มุ่งสู่เมืองอัจฉริยะ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง
ด้าน นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 54 ปี กฟผ. มุ่งมั่นดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ และการดูแลชุมชนให้อยู่ดีมีสุข จึงสนับสนุนเทศบาลเมืองน่านใช้นวัตกรรมพลังงานที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างคุณภาพอากาศที่ดี เพิ่มความปลอดภัย รวมถึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วย 3 แนวทางการดำเนินงาน คือ 1) สนับสนุนระบบไฟฟ้าส่องสว่างประสิทธิภาพสูงในเวลากลางคืน สำหรับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ โดยติดตั้ง LED Light Up ณ วัดมิ่งเมือง วัดศรีพันต้น วัดสวนตาล และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ในระยะแรก 2) จัดหารถรางชมเมืองระบบไฟฟ้า และรถสามล้อไฟฟ้า เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด 3) ติดตั้ง EV Charger สำหรับชาร์จรถรางไฟฟ้าและการให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน EleXA ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตรงข้ามวัดภูมินทร์
สำหรับการลงนามฯ ในครั้งนี้ มีระยะเวลาความร่วมมือ 2 ปี คาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะลดการใช้พลังงานลงได้ 4,626 หน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซ CO2 6.23 ตัน CO2 ต่อปี และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาทต่อปี