ค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน งวด ม.ค.-เม.ย.2567 พุ่ง 18.16 สตางค์ต่อหน่วย รวมกว่าหมื่นล้านที่ประชาชนต้องจ่ายรวมในบิลค่าไฟปีหน้า

757
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยต้นทุนค่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทน งวด ม.ค.-เม.ย. 2567 ที่จะถึงนี้  พุ่งเป็น 18.95 สตางค์ต่อหน่วย สูงขึ้นตามราคาค่าไฟฟ้าที่แท้จริง หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 11,919 ล้านบาท ซึ่งจะถูกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย ส่วนตลอดปี 2566 ค่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนคิดเป็น 18.16 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 33,944 ล้านบาท ยืนยันหลังจากนี้ค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะถูกควบคุมโดยภาครัฐ เพื่อไม่ให้กระทบค่าไฟฟ้าของประชาชนมากเกินไป  

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ผูกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ที่จะถึงนี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่าจากมาตรการให้เงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) และเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ยังคงส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 คิดเป็น 18.95 สตางค์ต่อหน่วย หรือรวมเป็น 11,919 ล้านบาท ที่ประชาชนต้องจ่ายรวมในค่าไฟฟ้าด้วย

โดยต้นทุนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค. 2566) ที่มีต้นทุนพลังงานทดแทนอยู่ในค่าไฟฟ้า 17.88 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 10,934 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากการให้ FiT และ Adder ขึ้นกับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริงด้วย ดังนั้นเมื่อค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 2567 ปรับสูงขึ้นจากราคาเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนสูงขึ้นตามไปด้วย  

- Advertisment -

ทั้งนี้ยืนยันว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่สูงขึ้นดังกล่าว ไม่ได้มาจากการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปัจจุบันนั้น ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดประเภทพลังงานทดแทนและราคารับซื้อไว้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ราคาต่ำ เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบค่าไฟฟ้ามากนัก ส่วนในปี 2567 จะมีพลังงานทดแทนเข้าระบบมากขึ้นเท่าไหร่จะต้องรอฝ่ายนโยบายประกาศออกมาก่อน

อย่างไรก็ตามเมื่อดูภาพรวมต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตลอดปี 2566 จะพบว่าเป็นต้นทุนที่รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 18.16 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 33,944 ล้านบาท ที่ประชาชนต้องร่วมกันจ่ายรวมในค่าไฟฟ้าตลอดปี 2566 ซึ่งต่ำว่าปี 2565 ที่ค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่ที่ 24.03 สตางค์ต่อหน่วย มูลค่า 43,704 ล้านบาท ทั้งนี้การที่มูลค่าสูงกว่า เนื่องมาจากมีพลังงานทดแทนเข้าระบบจำนวนมาก

ส่วนค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ขณะนี้ กกพ. ยังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นประชาชน ระหว่าง 10-24 พ.ย. 2566  ซึ่ง กกพ. ได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 (จ่ายคืนหนี้ กฟผ.ทั้งหมด) แบ่งเป็นค่า Ft จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายหนี้คืน กฟผ.ทั้งหมด 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว ทำให้ค่า Ft รวมเป็น 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวด ม.ค.-เม.ย. 2567 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 (จ่ายคืนหนี้ กฟผ.ภายใน 1 ปี) แบ่งเป็นค่า Ft จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายหนี้คืน กฟผ.จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 งวดๆ ละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับค่า Ft จะอยู่ที่ 114.93 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวด ม.ค.-เม.ย. 2567  เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 (จ่ายคืนหนี้ กฟผ.ภายใน 2 ปี) แบ่งเป็นค่า Ft จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายหนี้ กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับค่า Ft จะอยู่ที่ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย

โดยค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 นี้ ได้รวมต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนดังกล่าวไว้แล้ว และหลังจากรับฟังความเห็นประชาชนเสร็จสิ้นแล้วก็จะเสนอเข้าสู่บอร์ด กกพ.พิจารณา รวมทั้งหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อดำเนินการประกาศค่าไฟฟ้างวด ม.ค. – เม.ย. 2567 ต่อไป

Advertisment