คาดโอเปกลดกำลังผลิตต่อ หนุนราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้น

808
- Advertisment-

ปตท. และไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้น หลังโอเปกและพันธมิตรมีแนวโน้มลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง ขณะที่ IEA ประเมินตลาดน้ำมันโลกจะกลับมาตึงตัวในช่วงไตรมาส 2 ประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากช่วงไตรมาส 1 ที่ล้นตลาด โดยมองว่าน้ำมันดิบเบรนท์ จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 66-70 เหรียญฯ ส่วน เวสต์เท็กซัสจะอยู่ที่ 57-61 เหรียญฯ และดูไบ 66.5-70.5 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดการณ์สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสัปดาห์นี้ (18-22 มี.ค. 62) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI)  57-61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 66.5-70.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล เป็นผลมาจากการที่ผู้ค้าชะลอการเข้ามาลงทุนเพื่อรอดูทิศทางท่ามกลางข้อมูลและสถิติทางเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณไม่ชัดเจน อาทิ ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนชะลอตัว ด้านปัจจัยพื้นฐาน และ International Energy Agency (IEA) คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันดิบโลกในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2562 จะยังล้นตลาด ก่อนที่จะกลับมาตึงตัวในช่วงไตรมาส 2 ประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ IEA ยังคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2562 จะเติบโตจากปีก่อน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 83% ของการเติบโตของปริมาณการผลิตจากกลุ่ม Non-OPEC ทั้งหมด และในปี 2564 สหรัฐฯ จะกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ ซึ่งสหรัฐฯ ใช้ความได้เปรียบจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลก มาผลักดันนโยบายการค้าระหว่างประเทศ อาทิ เสนอการส่งออก LNG (Liquefied Natural Gas) ไปยังยุโรป เพื่อลดการพึ่งพิงโครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 จากรัสเซีย โดยเยอรมนีกำลังพิจารณาข้อเสนอเพื่อก่อสร้างท่าเรือรับ LNG 2 แห่ง เป็นทางเลือกในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ

- Advertisment -

รวมทั้งกรณีที่ นาย Elliot Abrams ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในเวเนซุเอลา แถลงปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาลดลงอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 50,000 บาร์เรลต่อเดือน และคาดว่าระดับการผลิตน้ำมันดิบจะลดลงต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใน 1-2 เดือนนี้ จากเมื่อปลายปี 2561 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลา อยู่ที่ 1.2-1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สำหรับราคาน้ำมันเบนซิน ปตท. คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.5-76.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยจากรายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินในอินโดนีเซียแข็งแกร่ง เพื่อเตรียมรองรับการเลือกตั้งในเดือน เมษายน และช่วงเทศกาลรอมฎอน (Ramadan) ในกลุ่มประเทศมุสลิม เดือนพฤษภาคมนี้ และ Sinopec บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีน มีแผนส่งออกน้ำมันเบนซินจากโรงกลั่น Hainan ในเดือนมีนาคม ลดลงจากเดือนก่อน 43,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 382,000 บาร์เรล ประกอบกับ โรงกลั่นน้ำมัน Kerteh ในมาเลเซียของบริษัท ปิโตรนาส (Petronas) มีแผนหยุดซ่อมบำรุงหน่วย Condensate Splitter (กำลังการกลั่น 75,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Crude Distillation Unit (กำลังการกลั่น 50,300 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 20 มีนาคมนี้ เป็นเวลา 1 เดือน ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 246.1 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน

ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.5-83.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากรายงาน Arbitrage ส่งออกน้ำมันดีเซลจากภูมิภาคตะวันออกไปยังตะวันตกเปิด ต้นเดือนมีนาคม มีเรือ VLCC 3 ลำ บรรทุกน้ำมันดีเซล ปริมาณรวมประมาณ 6 ล้านบาร์เรล จอดเทียบท่าที่เมือง Lome ประเทศ Togo ในแอฟริกาตะวันตก เพื่อขนส่งน้ำมันดีเซลไปยุโรปหรือลาตินอเมริกา ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 180,000 บาร์เรล อยู่ที่ 12.06 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ เป็นต้น

สอดคล้องกับ หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น หลังประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มที่จะยืดข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตจากเดือนมิถุนายนออกไปถึงครึ่งหลังของปี หลังได้ยกเลิกการประชุมในเดือนเมษายน และเลื่อนไปประชุมในวันที่ 25-26 มิถุนายน ซึ่งมติการประชุมนั้นจะขึ้นอยู่กับผลกระทบที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซุเอลา ด้วย

ทั้งนี้ มีการประเมินตัวเลขการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียปรับลดลงจาก 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนธันวาคม 2561 เหลือ 7.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนมกราคม 2562 เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบปรับลดลงและการใช้ในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ผลสำรวจจากรอยเตอร์ คาดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มปรับลดลงราว 800,000 บาร์เรล และการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ขนาดใหญ่ 7 แห่งในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มเป็น 8.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายน หากอัตราการผลิตน้ำมันดิบยังคงปรับเพิ่มแบบคงที่

Advertisment