คาดราคาน้ำมันดิบโลกสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวระหว่าง 65-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จับตา OPEC+ ถกแผนการผลิต

166
Cr: Original image by Rudy and Peter Skitterians from Pixabay
- Advertisment-

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ICE Brent สัปดาห์นี้ (28 มิ.ย. ถึง 2 ก.ค. 2564) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 65 – 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยชี้ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน เช่น ความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดของสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป การอนุมัติงบประมาณของสภาคองเกรสสหรัฐฯ สำหรับโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภค และการประชุมของ OPEC ต้นเดือน ก.ค. ที่จะสะท้อนปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และพันธมิตรในเดือน ส.ค.

ราคาน้ำมันดิบสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ก่อนการประชุม OPEC+ วันที่ 1 ก.ค. 64 ทั้งนี้ ราคาทะยานขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องจากช่วงต้นปี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ เวสท์เท็กซัสฯ และดูไบ รวมถึงราคาน้ำมันสำเร็จรูปเบนซินและดีเซล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-25 มิ.ย. 64) เป็นดังนี้

- Advertisment -

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • ประธานาธิบดี Joe Biden แห่งสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงกับสภา Congress ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงินรวม 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาทิ โครงการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคด้านพลังงานที่สะอาด, ผลิตน้ำประปา, ขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ รวมทั้งช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ
  • อิหร่านไม่ต่ออายุข้อตกลงที่อนุญาตให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency – IAEA) เข้าไปตรวจสอบเก็บข้อมูลการดำเนินการด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ที่สิ้นสุดลงในวันที่ 24 มิ.ย. 64 ทำให้ชาติมหาอำนาจขาดข้อมูลที่จำเป็นต่อการเจรจาระงับโครงการนิวเคลียร์ ประกอบกับประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน นาย Ebrahim Raisi ที่ก่อนหน้านี้มีตำแหน่งเป็นประธานศาลสูงสุดและมีท่าทีแข็งกร้าวต่อชาติตะวันตกและปัจจุบันเป็นบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ อาจทำให้การเจรจายากลำบากขึ้น ส่งผลให้อิหร่านยังไม่สามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้ตามที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • กระทรวงปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ (Ministry of Petroleum and Natural Gas) ของอินเดียรายงานว่า โรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Crude Throughput) ในเดือน พ.ค. 64 ลดลงจากเดือนก่อน  7.7% อยู่ที่ 4.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่ ต.ค. 63 เนื่องจากการ Lockdown จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
  • Bloomberg รายงานว่ารัสเซียมีแผนเสนอให้ OPEC+ เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค 64 ทั้งนี้ ปัจจุบัน OPEC+ ลดการผลิตในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. 64 ที่ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 5.759 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ และจะประชุมในวันที่ 1 ก.ค. 64 เพื่อกำหนดมาตรการสำหรับเดือน ส.ค. 64                                                                                

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 65 – 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยแวดล้อม เช่น

  • สหรัฐฯ และยุโรปประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 โดยใช้กลยุทธ์กระจายวัควีนให้มากที่สุด โดย สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนให้ประชาชน 54% และชาวยุโรปได้รับวัคซีนประมาณ 40-60% (ยกเว้นอังกฤษ ที่ได้รับ 65%) ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
  • ประกอบกับสภาคองเกรสสหรัฐฯ อนุมัติงบประมาณ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับโครงการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden ที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ
  • ให้ติดตามการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC และชาติพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 1 ก.ค. 64 เพื่อกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันสำหรับเดือน ส.ค. 64 เป็นต้นไป ทั้งนี้ OPEC เริ่มมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ COVID-19 ตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 เป็นต้นมา และทยอยเพิ่มการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้น้ำมันดิบที่ฟื้นตัว โดยเดือน ก.ค. 64 มีแผนลดการผลิตที่ 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน

Advertisment