สำนักงาน กกพ. เผยตัวเลขการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ตลอดปี 2563 ประมาณ 28.92 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 53,016 ล้านบาท ขณะที่กระทบค่า Ft เฉพาะงวด พ.ค. –ส.ค. 2563 อยู่ที่ 28.74 สตางค์ต่อหน่วย หรือประมาณ 18,323 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดก่อน (ม.ค.-เม.ย.) ที่อยู่ระดับ 28.65 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 17,146 ล้านบาท เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2562
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ของปี 2563 จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งค่าเงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า(Adder) และเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ Feed in Tariff (FiT) คิดเป็นเงินประมาณ 28.92 สตางค์ต่อหน่วย หรือรวมเป็น 53,016 ล้านบาท
โดยค่า Ft ในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2563 มีต้นทุนจากการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งค่า Adder และ FiT คิดเป็นเงิน 28.74 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงิน 18,323 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2563 ที่อยู่ระดับ 28.65 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 17,146 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนธ.ค. 2562 เพราะสภาพลมแรงขึ้นทำให้ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น
โดยค่า Ft งวดเดือน ก.ย. –ธ.ค. 2563 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากค่า Adder และ FiT ของพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 29.20 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 17,547 ล้านบาท
ด้านแหล่งข่าวจาก กกพ.กล่าวว่า หากโรงไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก(SPP)ประเภทกึ่งเสถียรภาพ (Semi Firm)รวม 300 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการขอเลื่อนเข้าระบบจากปี 2562 เป็นปี 2563 นี้ รวมทั้งโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ หากเข้าระบบในปี 2563 ได้จริง อาจส่งผลให้ต้นทุนค่า Fit จากพลังงานทดแทนเพิ่มสูงขึ้น แต่อาจไม่เกิน 20 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีผลกระทบต่อค่า Ft เท่าไหร่ โดยในการปรับค่าไฟฟ้าฐานของประเทศจะมีการพิจารณาผลกระทบค่า Ft จากการส่งเสริมพลังงานทดแทนด้วย ซึ่งคาดว่ายอดอัตราผลกระทบจะใกล้เคียงปัจจุบันที่ 29-30 สตางค์ต่อหน่วย