คอลัมน์รอบรู้ปิโตรเลียม : คุณรู้จัก “ปิโตรเลียม” ดีพอหรือยัง?”

12609
- Advertisment-

คอลัมน์รอบรู้ปิโตรเลียม 

โดย Mr. Fact 

คุณรู้จัก “ปิโตรเลียม” ดีพอหรือยัง?”   

- Advertisment -

เคยมีบ้างไหมเวลาที่ใครๆพูดกันถึงเรื่อง “ปิโตรเลียม” แล้วพูดคุยกับเขาต่อไปไม่ได้ เพราะเราเองก็ยังไม่รู้ว่า “ปิโตรเลียม” คืออะไรกันแน่ และที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องปิโตรเลียมไปอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น เรามั่นใจได้แค่ไหนว่าพูดเรื่องเดียวกันกับสิ่งที่เขาหมายถึง ถ้าเคยเป็นอย่างที่ยกกรณีไว้ข้างต้น เมื่ออ่านบทความนี้จนจบ จะช่วยให้เราคุยกับคนอื่นๆ ในเรื่อง “ปิโตรเลียม” ได้อย่างผู้รู้ ในทุกแง่ทุกมุม

คำว่า “ปิโตรเลียม” (Petroleum ) นั้นเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก และอาจมีธาตุอื่น เช่น กํามะถัน ออกซิเจน ไนโตรเจน ปนอยู่ด้วย สามารถเกิดได้เองตามธรรมชาติจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์บริเวณใต้เปลือกโลก แต่ต้องใช้เวลานานเป็นเวลาหลายล้านปี ที่ประเทศไทยเองก็มีการสำรวจพบปิโตรเลียมทั้งที่บนบกและในทะเลอ่าวไทย

เราอาจจะจำแนกประเภทของปิโตรเลียม ซึ่งเป็นคำที่กินความหมายกว้างๆ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ  น้ำมันดิบ (crude oil) ก๊าซธรรมชาติ (natural gas) และ ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ คอนเดนเสท (condensate) และเวลาที่ได้ยินใครๆพูดถึงคำเหล่านี้  เช่น มีเทน  อีเทน  โพรเพน  บิวเทน   ก๊าซ LPG  (ชาวบ้านชอบเรียก ก๊าซหุงต้ม)  ก๊าซ NGV  ก๊าซ CNG   ก๊าซ LNG   ดีเซล เบนซิน ก็ให้รู้ไว้เลยว่า มันก็คือปิโตรเลียม ที่มาจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันหลายๆ ล้านปี นั่นแหละ

เมื่อมีการสำรวจพบแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ผิวดิน 3-4 กิโลเมตร แล้วผลิตขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ มันก็จะมีทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซคอนเดนเสท และน้ำ ปนๆกันขึ้นมา  แหล่งไหนที่พบน้ำมันดิบมากกว่าก๊าซ ก็มักจะเรียกแหล่งปิโตรเลียมนั้นว่า แหล่งน้ำมัน  เช่น แหล่งน้ำมันดิบสิริกิติ์  ส่วนแหล่งไหนที่พบก๊าซมากกว่าน้ำมันดิบ ก็มักจะเรียกแหล่งปิโตรเลียมนั้นว่า แหล่งก๊าซ เช่น แหล่งก๊าซบงกช แหล่งก๊าซเอราวัณ ในอ่าวไทย  เป็นต้น

ก๊าซธรรมชาติที่พบนั้น ก็แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. “ก๊าซแห้ง” หรือ “dry gas” ที่มีน้ำหนักเบาสุด มีองค์ประกอบของมีเทน เป็นส่วนใหญ่ และ 2. “ก๊าซเปียก” หรือ “wet gas” ส่วนใหญ่มีองค์ประกอบของก๊าซธรรมชาติเหลว เช่น อีเทน โพรเพน บิวเทน เพนเทน และเฮกเซน ที่เหมาะสำหรับการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ประเทศไทยเราโชคดีที่ก๊าซธรรมชาติที่ค้นพบในอ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นก๊าซเปียก ดังนั้น จึงมีการส่งก๊าซจากแหล่งปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานทั้งหลายในอ่าวไทยผ่านมาทางท่อขึ้นฝั่งที่มาบตาพุด เข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อแยกเอาส่วนที่เป็นมีเทนไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า  โรงงานอุตสาหกรรม หรือถ้าเอาไปเพิ่มความดัน (Compressed  Natural Gas) หรือ CNG บรรจุใส่ถังใช้ในรถยนต์ ที่เราก็มักจะเรียกว่า ก๊าซ NGV

ส่วนที่เป็นอีเทน โพรเพน บิวเทน เพนเทน และเฮกเซน  ก็จะส่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  ผลิตเป็นเม็ดพลาสติก ในขณะที่โพรเพนที่ผสมกับบิวเทน ก็กลายเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas : LPG) ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคครัวเรือน  หรือที่รู้จักกันว่า ก๊าซหุงต้ม  ถ้าไปเติมใช้ในรถยนต์ก็มักเรียกว่า แก๊สรถยนต์ หรือ แก๊ส  ส่วนนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะเรียกว่า “ก๊าซแอลพีจี”

ในสายของน้ำมันดิบและคอนเดนเสท นั้น ก็จะส่งเข้าโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ เช่น ดีเซล เบนซิน น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด รวมถึงยางมะตอย เพื่อนำไปใช้ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม  โดยในกระบวนการกลั่นนั้นยังได้ก๊าซ LPG ออกมาเป็นผลพลอยได้อีกทางหนึ่งด้วย

แม้ว่าประเทศไทยจะมีแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ โดยผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบได้เอง  แต่ในข้อเท็จจริงนั้น ปริมาณที่ผลิตได้ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้ในแต่ละวัน ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อเสริมความมั่นคง

ก๊าซธรรมชาติ ที่นำเข้าในรูปก๊าซนั้น มาจากประเทศเมียนมา ผ่านทางท่อส่งก๊าซไทย-เมียนมา ทางฝั่งภาคตะวันตกของประเทศ ส่วนก๊าซธรรมชาติ ที่นำเข้าจากประเทศที่อยู่ไกลออกไป จะนำเข้ามาในรูปของก๊าซธรรมชาติที่เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว ที่เรียกว่า Liquefied natural gas หรือ LNG ซึ่งขนส่งมาทางเรือขน LNG โดยเฉพาะ และมีสถานีรับจ่าย LNG เป็นของปตท. อยู่ที่มาบตาพุด จ.ระยอง

ส่วนน้ำมันดิบที่นำเข้านั้น ส่วนใหญ่จะมาจากแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง ที่มีคุณสมบัติเหมาะกับสเปคของโรงกลั่นไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% ของความต้องการใช้  เช่นเดียวกับก๊าซ LPG ที่ต้องมีการนำเข้ามาด้วยเพราะที่ผลิตได้ทั้งจากโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นนั้นไม่เพียงพอกับความต้องการใช้

…ใครที่อ่านตั้งแต่ต้น มาจนถึงย่อหน้าสุดท้าย ก็น่าจะรู้จัก “ปิโตรเลียม” ดีพอที่จะถ่ายทอด หรือบอกต่อๆ ให้คนที่ยังไม่รู้ ได้รู้และเข้าใจด้วย และไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เมื่อเวลาที่มีใครมาชวนคุย หรือไปชวนใครคุย เรื่อง  “ปิโตรเลียม”…

Advertisment