ควักกองทุนน้ำมันตรึงดีเซลแล้ว 14 บาทต่อลิตรแต่ยอมปล่อยขึ้นLPG พร้อมค่าไฟฟ้า

440
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานควักกองทุนน้ำมันตรึงราคาดีเซลเพิ่มเป็น 14 บาทต่อลิตรไม่สนคนใช้เบนซิน แก๊สโซฮอล์ ในขณะที่ไฟเขียว กกพ.ขึ้นค่าไฟฟ้างวดใหม่ พ.ค.-ส.ค. ในกรอบ 16.71 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมขยับ LPG ขึ้น 15 บาทต่อถัง หลังแบกภาระหนักมานานโดยใช้เงินกองทุนน้ำมันไป​แล้ว​กว่า 2.7หมื่นล้าน ส่วนกลุ่มเปราะบาง ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะได้การช่วยเหลือ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็น 15 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป โดยราคาจำหน่ายจะปรับจาก 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็น 333 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ราคา LPG โลกขยับจาก 400 เหรียญสหรัฐฯต่อตันในช่วงที่เริ่มต้นตรึงราคา มาอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแบกรับภาระชดเชยราคา LPG หนักถึงเดือนละ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน จนปัจจุบันชดเชยไปแล้วรวม 27,445 ล้านบาท และกองทุนฯ ติดลบรวม 23,986 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานเตรียมหารือกับกระทรวงการคลังและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิมที่ให้การช่วยเหลือด้านราคา LPG อยู่ 45 บาทต่อ 3 เดือน โดยจะเพิ่มให้อีก 55 บาทต่อ 3 เดือน รวมเป็นการช่วยเหลือ 100 บาทต่อ 3 เดือน ซึ่งจะพยายามเร่งให้เร็วที่สุดเพื่อให้มีผลใช้ภายใน 1 เม.ย. 2565

- Advertisment -

สำหรับในส่วนของมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรนั้น ยืนยันว่าจะตรึงไปจนกว่าเงินกองทุนน้ำมันฯ จะหมดกรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท เบื้องต้นประเมินว่าหากราคาน้ำมันโลกไม่เกิน 115 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล กองทุนฯจะพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ถึงเดือน พ.ค. 2565 นี้

สำหรับสถานการณ์​การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่สร้างความผันผวนอย่างมากต่อราคาพลังงาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำมันในประเทศ ทางกรมธุรกิจพลังงานจะออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันเพิ่มสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปอย่างละ 1% ทำให้สำรองน้ำมันเพิ่มขึ้นได้อีก 7 วัน โดยแบ่งเป็นสำรองน้ำมันดิบเพิ่มจาก 4% เป็น 5% และน้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มจาก 1% เป็น 2% ซึ่งจะทำให้ต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 24,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งเป็นต้นทุนที่ประชาชนต้องแบกรับภาระดังกล่าว

ส่วนค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ที่จะปรับขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิง จะพยายามให้อยู่ในกรอบที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานคำนวณไว้ว่าจะปรับขึ้นแบบขั้นบันได แต่กระทรวงพลังงานจะดูแล ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้ค่าไฟฟ้าราคาเดิมของงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 เพื่อจูงใจให้เกิดการประหยัดการใช้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.จะประชุมเพื่อพิจารณาอัตราค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นค่า Ft ปรับขึ้นแน่นอนจาก 16.71 สตางค์ต่อหน่วย ตามต้นทุนราคาน้ำมันและก๊าซฯ แต่หากภาครัฐจะช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าเฉพาะกลุ่ม หรือผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนให้ใช้ค่าไฟฟ้าราคาเดิม ทางภาครัฐต้องหาเงินมาสนับสนุนมาตรการดังกล่าวเอง เพราะ กกพ.ไม่มีเงินมาดูแลค่าไฟฟ้าได้อีกแล้ว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News​Center- ENC​ )​ รายงานว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่ตลาดสิงคโปร์นั้นปรับเพิ่มสูงขึ้นมาจากราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยขึ้นไปถึง176 เหรียญสหรัฐ​ต่อบาร์เรลจากที่เคยอยู่ที่ระดับ ไม่เกิน100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก่อนเหตุการณ์สงครามรัสเซีย ยูเครน โดยถึงแม้ว่าราคาจะปรับลดลงมาในช่วง 2-3 วันนี้ แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนราคาดีเซลในประเทศ ที่ราคาวันที่ 11 มี.ค.65 ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 34.99 บาทต่อลิตร แต่การที่รัฐยังตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้กองทุนน้ำมันต้องเข้าไปอุดหนุนราคาดีเซลถึง14 บาทต่อลิตร โดยหากใช้ตัวเลขยอดการใช้ดีเซลเฉลี่ยเดือน ม.ค.65 ของกรมธุรกิจพลังงาน ที่อยู่ที่ 62.6 ล้านลิตรต่อวัน จะต้องใช้เงินชดเชยถึงวันละประมาณ 876 ล้านบาท

โดยราคาขายปลีกดีเซล แตกต่างกับแก๊สโซฮอล์ 91 ถึงลิตรละ 9.94 บาท ทั้งๆที่ราคาหน้าโรงกลั่นของ แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 28.6 บาทต่อลิตร หรือถูกกว่า ราคาหน้าโรงกลั่นของดีเซล ถึง 6.39 บาท ต่อลิตร ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งรัฐตรึงราคาดีเซลเอาไว้มาก ผู้ใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์ก็ต้องเป็นผู้จ่ายและแบกภาระเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม

Advertisment