ครม. อนุมัติ ปตท.สผ. ชนะประมูลแหล่งก๊าซฯทั้งเอราวัณและบงกช

6610
- Advertisment-

ที่ประชุม ครม. สัญจร จ. หนองคาย มีมติอนุมัติผลการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ปตท.สผ. ชนะควบทั้งสองแปลง เหตุเสนอเงื่อนไขที่ดีกว่า โดยเสนอราคาก๊าซฯ ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ทั้งสองแปลง และแบ่งกำไรให้รัฐ 68% ในแปลงเอราวัณ และ 70% ในแปลงบงกช

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวผลการพิจารณาข้อเสนอของเอกชนที่ยื่นประมูลแหล่งปิโตรเลียม G1/2561 (เอราวัณ)และ G2/2561 (บงกช) ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่จังหวัดหนองคาย มีมติอนุมัติผลการพิจารณา โดย กลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ชนะการประมูลสิทธิสำรวจและผลิตในทั้งสองแปลง

“ปตท.สผ. เสนอเงื่อนไขที่ดีกว่าให้กับประเทศ” นายศิริ กล่าว

- Advertisment -

โดยเงื่อนไขที่ทำให้พิจารณาให้ ปตท.สผ. ชนะ ได้แก่ ราคาก๊าซที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ทั้งสองแปลง และส่วนแบ่งกำไรให้รัฐที่ 68% สำหรับแปลงแหล่งเอราวัณ ที่ปัจจุบันเชฟรอนเป็นผู้ดำเนินการ และ 70% สำหรับแปลงบงกช ที่ ปตท.สผ. เองเป็นผู้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

รายการข้อเสนอของ ปตท.สผ.

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแจงละเอียด เหตุ ปตท.สผ. ชนะการประมูลทั้งสองแหล่ง

สำหรับรายละเอียดผลการประมูล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ออกเอกสารชี้แจงในเวลาต่อมา ว่า ครม. มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด  ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แปลงเอราวัณ) และ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/61 (แปลงบงกช)  และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต่อไป เมื่อสัญญาได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ  โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ชนะการประมูลภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

สำหรับการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ กระทรวงพลังงานพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้ในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นขอสิทธิ ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 จากนั้นได้ให้เวลาบริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูลได้เข้าศึกษาข้อมูล จัดทำเอกสารการประมูล และเปิดให้ยื่นซองประมูลในวันที่ 25 กันยายน 2561 และได้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้  โดยหลักเกณฑ์การพิจารณา ในข้อเสนอหลักประกอบด้วย 1.ราคาก๊าซธรรมชาติตลอดอายุสัญญาตามสูตรราคาที่กำหนดในเอกสารเชิญชวน  2.ส่วนแบ่งกำไรของผู้รับสัญญา  3.โบนัสและผลประโยชน์พิเศษ และ 4.สัดส่วนการจ้างพนักงานไทย

โดยเมื่อถึงกำหนดยื่นเอกสารข้อเสนอ วันที่ 25 กันยายน 2561 ได้มีผู้ยื่นคำขอจำนวน 2 คำขอสำหรับแปลง G1/61 (แปลงเอราวัณ) ประกอบด้วย

  • คำขอที่ 1 เป็นของ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (สัดส่วนร้อยละ 60 และ เป็นผู้ดำเนินงาน) และบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด (ร้อยละ 40)
  • และคำขอที่ 2 เป็นของ บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. (สัดส่วนร้อยละ 74 และเป็นผู้ดำเนินงาน) และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด (ร้อยละ 26)

และคำขอจำนวน 2 คำขอสำหรับแปลง G2/61 (แปลงบงกช) ประกอบด้วย

  • คำขอที่ 1 เป็นของ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ร้อยละ 100)
  • และ คำขอที่ 2 เป็นของ บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. (ร้อยละ 74 และเป็นผู้ดำเนินงาน) และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด (ร้อยละ 26)

ราคาก๊าซฯ ที่ผู้ชนะเสนอ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์ต่อหน่วย อย่างน้อย 10 ปี

กระทรวงพลังงานโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียมได้พิจารณาแล้วว่า ผู้ยื่นคำขอทั้งหมดผ่านคุณสมบัติตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514  ทั้งนี้ ข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และข้อเสนอด้านเทคนิค มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดปริมาณการผลิตก๊าซขั้นต่ำ มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ และสมมติฐานที่ใช้สมเหตุสมผลและปฏิบัติได้จริง และผู้ชนะได้ยื่นข้อเสนอในแปลง G1/61 (แปลงเอราวัณ) และ G2/61 (แปลงบงกช) ดังนี้

รายการข้อเสนอ แปลง G1/61

(แปลงเอราวัณ)

แปลง G2/61

(แปลงบงกช)

ค่าคงที่ราคาก๊าซ (Pc)* บาท/ล้านบีทียู 116 116
ร้อยละปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรของผู้รับสัญญา  (Profit Split) 32% 30%
โบนัสและผลประโยชน์พิเศษ
– โบนัสลงนาม (ล้านบาท) 1,050 1,050
– โบนัสการผลิต (ล้านบาท) 1,575 1,575
– เงินอุดหนุน (ล้านบาท/ปี) 7 7
– ผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ (ล้านบาท) 35 685
สัดส่วนการจ้างพนักงานไทย
– ร้อยละของพนักงานไทยเมื่อสิ้นปีที่ 1 98% 99%
– ร้อยละของพนักงานไทยเมื่อสิ้นปีที่ 5 98% 99%

 

ทั้งนี้ จากข้อเสนอค่าคงที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ 116 บาท/ล้านบีทียู สำหรับทั้งสองแปลง เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบัน ที่ 165 บาท/ล้านบีทียู สำหรับแปลงเอราวัณ  และ 214.26 บาท/ล้านบีทียู สำหรับแปลงบงกช      แล้วเทียบเท่าส่วนลดค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ เท่ากับ 550,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี ตามเงื่อนไขการผลิตขั้นต่ำ หรือปีละ 55,000 ล้านบาท และหากนำส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากทั้ง         2 แปลง มาใช้ลดค่าใช้จ่ายผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์ต่อหน่วย     ไปอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 10 ปี  อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เราใช้เพียงร้อยละ 58 ของก๊าซธรรมชาติทั้งหมด เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงประมาณการได้ว่า หากเฉลี่ยส่วนลดให้ผู้ใช้ก๊าซทุกรายตามสัดส่วนการใช้จะประหยัดไฟฟ้าได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย

ให้ผลตอบแทนรัฐมากกว่า 50% และทั้ง 2 แหล่งก๊าซฯจะอยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ

ในด้านข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ผู้ชนะการประมูลยังได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมากกว่าร้อยละ 50 โดยข้อเสนอดังกล่าวมากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท รวมถึงยังสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แปลง ได้ต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ซึ่งจะสามารถสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้กับประเทศ เพื่อเป็นรากฐาน ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การพัฒนาทั้ง 2 แปลงนี้ ในช่วงระยะเวลา 10 ปีแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิต คาดว่า สามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และ ส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร ที่เป็นประโยชน์  ต่อประเทศชาติ ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย ในสัดส่วนร้อยละ 98 และยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ  4.6 แสนล้านบาท รวมทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.1  ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของการให้หน่วยงานรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 25 นั้น เนื่องจากบริษัทที่ชนะการประมูลของทั้ง 2 แปลง คือบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ในส่วนของข้อเสนอดังกล่าว บริษัทที่ชนะการประมูลจึงเข้าเงื่อนไขด้านการเข้าร่วมของหน่วยงานรัฐ โดยแปลง G1/61 (แปลงเอราวัณ) ในสัดส่วนร้อยละ 60 และ แปลง G2/61 (แปลงบงกช) ในสัดส่วนร้อยละ 100  ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยทั้ง 2 แปลง อยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุด

 

Advertisment