ครม.ยืดหนี้ภาระค่าไฟฟ้า ให้ปรับขึ้นไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย ประชาชนเตรียมทยอยจ่ายคืนหนี้งวด Ft ถัดไป

773
- Advertisment-

แนวทางที่ คณะรัฐมนตรี มีมติ ลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม เป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะสั้น โดยภาระต้นทุนทางพลังงานที่ยืดออกไปนั้น ในที่สุดประชาชนผู้ใช้พลังงานก็จะต้องทยอยจ่ายคืนในอัตราที่มากขึ้นกว่าเดิมเพราะต้องบวกด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

โดยในวันนี้ (19 ธันวาคม 2566) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (19 ธันวาคม 2566) ที่ได้มีมติลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ตามที่กระทรวงพลังงานได้เสนอ โดยมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ประกอบด้วย มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานจะหารือกับกระทรวงการคลังในการบริหารจัดการด้านราคา โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนราคาก๊าซหุงต้มที่ประชุมก็ได้มีมติให้ตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567 โดยบริหารผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ส่วนมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 นอกจากนั้น ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับภาระเงินคงค้างสะสม (AF) สำหรับงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2567 แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไปพลางก่อน ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะมีการทบทวนสมมติฐานปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะมีการนำส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติ จำนวน 4,300 ล้านบาทจากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของผู้ผลิต (Shortfall) ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 มาช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติในรอบนี้ด้วย ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวทั้งหมด จะทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม – เมษายน 2567 จะอยู่ที่ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย

- Advertisment -

 ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนจะได้รับส่วนลดเพิ่ม 21 สตางค์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 17 ล้านครัวเรือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมคือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยในส่วนนี้จะใช้งบกลางมาบริหารคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1,950 ล้านบาท

“หลังผมได้รับตำแหน่ง ผมและข้าราชการเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่กระทรวงพลังงานนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการหาแนวทาง ใช้ทุกมาตรการ เพื่อลดราคาพลังงานทุกชนิดให้แก่ประชาชน ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าจากต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศก็ยังผลิตไม่ได้ตามแผนเนื่องจากมีการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน อีกทั้งสงครามภายนอกที่ยืดเยื้อ และพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ก็ยังมีต้นทุนสูง ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบมาเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า และที่ผ่านมา ก็ได้รับการช่วยเหลือจาก กฟผ. ในการแบกรับภาระค่าไฟฟ้าบางส่วนมาโดยตลอด รวมทั้งให้ประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรม ดังนั้น ผมต้องรักษาสมดุลให้กับทุกฝ่าย และในส่วนของน้ำมัน ผมก็ได้หารือกับกระทรวงการคลังในการใช้กลไกการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อให้สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อไปอีก 3 เดือน ส่วนราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ผมได้สั่งการให้มีการลดราคาตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ก็ยังมีผลต่อเนื่องยาวไปจนถึง 31 มกราคม 2567 ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่คณะรัฐมนตรีมีมติในวันนี้ ถือเป็นของขวัญปีใหม่จากกระทรวงพลังงาน แต่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการรื้อกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ ประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด จะไม่มีเสียงครหาว่ากระทรวงพลังงานเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC ) รายงานว่า มาตรการของรัฐบาลผ่านมติคณะรัฐมนตรี เป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้ใช้พลังงานในระยะสั้น โดยการยืดภาระต้นทุนที่ประชาชนจะต้องจ่ายออกไปก่อน โดยในส่วนของราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มนั้น ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้รับภาระเอาไว้ก่อน รวมทั้งรัฐยอมสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต  ในส่วนของค่าไฟฟ้า ก็เป็นการยืดภาระค่าFt คงค้าง ที่ต้องทยอยจ่ายคืนให้ กฟผ.ออกไปก่อน ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนน้ำมันฯและ กฟผ.ต่างใช้วิธีกู้เงินจากสถาบันการเงินซึ่งมีการคิดอัตราดอกเบี้ย มาใช้รับภาระเอาไว้ และจะไปทยอยเรียกเก็บคืนจากประชาชน ในภายหลัง

ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2566 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะติดลบ อยู่ 78,680 ล้านบาท โดยติดลบในส่วนของบัญชีน้ำมัน ที่ไปชดเชยราคาดีเซล 32,569 ล้านบาท และติดลบในส่วนของการไปชดเชยก๊าซหุงต้ม 46,111 ล้านบาท

ในส่วนภาระของ กฟผ.นั้น  มีข้อมูลจาก กฟผ.ระบุว่า หากรัฐบาลสั่งตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.20 บาทต่อหน่วยจากที่ควรจะต้องปรับขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย ตามมติ กกพ.จะทำให้  กฟผ. มีค่า Ft ค้างรับทั้งปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 137,000 ล้านบาท  และจะทำให้ กฟผ.เริ่มมีปัญหาขาดสภาพคล่อง ในช่วงต้นปี 2567 หากรัฐบาลไม่มีมาตรการอื่นๆมาช่วยเหลือฐานะทางการเงินของ กฟผ.

ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้างวดเดือน มกราคม-เมษายน 2567 ที่จะดำเนินการตามมติ ครม.ที่ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 คิดคำนวณออกมา ว่า ควรจะต้องปรับขึ้นเป็นอัตรา 4.68 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นการผลักภาระต้นทุนไปไว้ในการคำนวณค่าไฟฟ้า งวด พฤษภาคม-สิงหาคม 2567 ที่จะเป็นโจทย์ใหญ่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตามแก้อีก

Advertisment